เน้นงานภาครัฐลดเสี่ยง NPL
สัมภาษณ์
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลีิซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อ เพื่อธุรกิจSMEs ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกนอกภาคสถาบันการเงินประเภท Non-Bank โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนธุรกิจในปี 2562 ว่า บริษัทยังมุ่งเน้นในธุรกิจดั้งเดิมคือ การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเตรียมโครงสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับธุรกิจ ให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนที่สามารถแข่งขันได้
จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับอานิสงส์ไปด้วย บริษัทจึงตั้งเป้าปี 2562 เติบโตทางด้านรายได้ และสินเชื่อเพิ่มขึ้น 20% คิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท จากสิ้นปี 2561 ที่คาดจะปล่อยสินเชื่อรวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยนโยบายเน้นความยั่งยืนของการเติบโตควบคู่กับคุณภาพสินเชื่อ บริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เกินระดับ 3% ของสินเชื่อ โดยเน้นปล่อยกู้กับธุรกิจที่ทำงานกับภาครัฐมากขึ้น จากสัดส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 70% เพิ่มเป็น 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นภาคเอกชน
[caption id="attachment_366260" align="aligncenter" width="335"]
สมพล เอกธีรจิตต์[/caption]
“นับตั้งแต่ที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเติบโตต่อปี 30% ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ 3 ไตรมาสปีนี้ทำได้ตํ่ากว่าเป้าหมาย สิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพียง 10% อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ปีหน้าเราตั้งเป้าเติบโตเป็น 20% ซึ่งน่าจะเป็นการโตในอัตราที่เหมาะสม พร้อมกับควบคุมคุณภาพสินเชื่อ หลังจากตัวเลขเอ็นพีแอลปีที่แล้วเพิ่มเป็น 5% แต่แม้หนี้เอ็นพีแอลจะปรับขึ้นอย่างไร ก็ยังเอาอยู่ เห็นได้จากการที่เรากันสำรองหนี้เกินระดับหนี้เสียคือที่ 7% ขณะที่บริษัทยังมีกำไรสุทธิสูงขึ้นทุกปี อย่างปี 2560 กำไรสุทธิ 145 ล้านบาท งวด 9 เดือนของปีนี้มีกำไร 114.81 ล้านบาท หรือ 0.52 บาทต่อหุ้น คาดว่าทั้งปีก็น่าจะอยู่สูงกว่าปีก่อน”
กลยุทธ์การทำตลาด บริษัทจะใช้ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง ผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น หลังจากรอบปีที่ผ่านมา ลูกค้าใหม่ที่มาจากช่องทางดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง เพิ่มขึ้นจากที่มีเพียง 1% เพิ่มเป็น 5% ถือเป็นอัตราเติบโตที่รวดเร็ว
ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติโครงการใหญ่ที่ทำงานให้กับรัฐหลายโครงการ อาทิ โครงการจ้างเหมาปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารสู่ระบบดิจิตอล และโครงการ USO Net ฯลฯ ล่าสุดได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินในโครงการบริการระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) มูลค่ารวม 108 ล้านบาท ผ่านการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) เป็นระยะเวลา 1.5 ปี โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ให้บริการ ในโครงการบริการระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ในระบบ ATM Pool ของธนาคารแห่งหนึ่ง
ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างประมาณ 2,300 ล้านบาท เป็นพอร์ตด้านเช่าซื้อสัดส่วน 20% ส่วนอีก 80% เป็นพอร์ตด้านแฟกตอริงและสินเชื่อโครงการ ฯลฯ ระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ที่ 60-90 วัน ลูกค้าจะเป็นกลุ่มภาคการก่อสร้าง 30%
นายสมพล ยังกล่าวถึงผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นว่า ไม่ส่งผลต่อลูกค้าเพราะอย่างไรต้นทุนก็ยังถูกกว่าการไปกู้นอกระบบ และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อคุณภาพหนี้ เนื่องจากการคัดกรองลูกค้า บริษัทจะพิจารณาถึงธุรกิจที่ลูกค้าทำด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
“ความแตกต่างระหว่างเรากับแบงก์ในการปล่อยกู้ คือทุกโมเดลที่ LIT ปล่อย จะมีคน 2 คนเกี่ยวข้องคือลูกค้ากับลูกหนี้ เช่นบริษัทที่ไปลงทุนกับภาครัฐ แต่ไม่มีเงินลงทุน มาขอสินเชื่อเราก็ปล่อยกู้ เรียกว่าลูกค้า แต่เวลาจ่ายเงินภาครัฐจะจ่ายส่งมาทางเรา เรียกว่า ลูกหนี้ ดังนั้นเวลาจะปล่อยกู้ ก็จะต้องดูว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้แค่ไหน ซึ่งบริษัทจะเน้นลูกหนี้ที่เป็นภาครัฐมากขึ้น ลดภาคเอกชนลง”
แผนงานระยะกลางและระยะยาว บริษัทจะปรับรูปแบบโดยใช้เทคโนโลยี เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานมากขึ้น โดยจะเริ่มจากการใช้ฐานข้อมูลระบบภายในก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบจากการแข่งขัน และดิจิตอล ดิสรัปชัน
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,430 วันที่ 27-29 ธันวาคม 2561