ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย วอนสธ. ไฟเขียว ใช้ rPET ผลิตขวดรีไซเคิล หวังเพิ่มการใช้พลาสติกหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

28 ธ.ค. 2561 | 07:01 น.
ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย พร้อมใช้  rPET ผลิตขวด เตรียมเดินประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  ซัพพลายเออร์  นักวิชาการ  และหน่วยงานภาครัฐ  ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก  ชี้ปี2560 มีขวดพลาสติกใหม่ถูกผลิตออกมาใช้มากกว่า 1.85 แสนตัน  แต่ในจำนวนทั้งหมดนั้นไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นขวดพลาสติกใช้ซ้ำสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยได้ เพราะติดข้อห้ามกฎหมายกระทรวงสาธารณสุข

E084_6287

นายวีระ  อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยว่า การบริหารจัดการขยะขวดพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค  และเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกคนต่างยินดีให้ความร่วมมือ  สำหรับประเทศไทย  ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีความมุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยเร่งรัดให้มีการใช้พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม  เพราะเป็นการใช้พลาสติกหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ   และลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic)

shutterstock_314735708

โดยสมาคมเริ่มผลักดันให้บริษัทสมาชิก มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำและเครื่องดื่ม รวมทั้งได้ประสานงานกับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลและบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มีความเข้าใจตรงกัน  และเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนแพจเกจจิ้งรีไซเคิลสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในอนาคต

“การใช้  rPET มาผลิตขวดเครื่องดื่มมีต้นทุนเพิ่มอยู่บ้าง และผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและดำเนินการได้ทันที  แต่ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในตอนนี้  เพราะประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่ม”  นายวีระกล่าว  โดยระบุรายละเอียดจากประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 295  พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารแล้ว เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”   ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา  การออกประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด  อาจเพราะในยุคนั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิลพลาสติกที่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพ มีความสะอาดเพียงพอต่อการนำไปผลิตขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้

shutterstock_1115905925

“ถ้าหากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยสามารถใช้  rPET มาผลิตขวดเครื่องดื่มได้  ผมคิดว่าจะเป็นวิธีการดีที่สุดที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันลดปริมาณขยะขวดพลาสติกและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม  ตอนนี้เราขอเพียงให้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแก้กฎหมายเท่านั้น  ซึ่งเราเข้าใจดีว่าคงต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลในหลายส่วน และเราพร้อมเป็นตัวประสานและจัดหาข้อมูลวิจัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนการกำหนดแนวทางการใช้ rPET สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม”  นายวีระ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านสมาคมได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อจัดทำข้อมูลในด้านนวัตกรรมรีไซเคิลที่ปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐในการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าว    ล่าสุด ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางและความเป็นไปได้ในการนำวัสดุเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาใช้สำหรับภาชนะบรรจุอาหารในประเทศไทย   โดยเชิญนักวิจัย  ดร.วาณี โกมลประเสริฐ  Consumer Safety Officer  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) นักวิชาการระดับหัวกะทิที่ทำงานวิจัยเรื่อง rPET มานานกว่า 30 ปีและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ประกาศข้อกำหนดการตรวจสอบมาตรฐานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่จะนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐอเมริกา   มาร่วมแชร์ข้อมูลสำคัญในหลายประเด็น  เช่น  กรอบการพิจารณาตรวจสอบของ  FDA  การกำหนดประเภทพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้  การกำหนดวิธีการตรวจสอบกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล  การออกจดหมายรับรองให้ธุรกิจสามารถใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดได้ เป็นต้น

shutterstock_16328131

รวมทั้งมีตัวแทนจาก บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เจ้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล  มีฐานการผลิตในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมด 100% ไปยังออสเตรเลียและอังกฤษ มานำเสนอความก้าวล้ำด้านกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในระดับที่ผ่านมาตรฐานทั้งของสหรัฐอเมริกาและมาตรฐานอียู   เพื่อเก็บข้อมูลนำเสนอให้หน่วยงานผู้คุมกฎภาครัฐได้มีความมั่นใจและนำไปศึกษาต่อว่าจะมีแนวทางการกำหนดมาตรฐานอย่างไรและอะไรบ้างหากจะมีการนำวัสดุเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาใช้สำหรับภาชนะบรรจุอาหารในประเทศไทย

shutterstock_1191890989

อย่างไรก็ตามสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย มีความเข้าใจการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก  แต่ขณะเดียวกันในฐานะที่ต้องดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค  กระทรวงสาธารณสุขย่อมมีความห่วงกังวลในเรื่องของความสะอาดของเม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิล  ซึ่งในปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล สามารถสร้างมาตรฐานการผลิตที่ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยจึงตั้งความหวังให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อประเทศไทยจะได้เดินหน้านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนต่อไป