คลื่น 900Mhz ทำพิษ! ศึก 4 เส้าค่ายมือถือ

14 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงกันเลยทีเดียว สำหรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี หลังจาก กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ชนะประมูลด้วยกัน 2 ราย คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC (ดูตารางประกอบ)
จากนั้นคล้อยหลังไม่นานกสทช. ก็ได้รับรองผลการประมูลไปแล้ว พร้อมตั้งเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก พร้อมหนังสือค้ำประกันหรือแบงก์การันตี โดยกำหนดระยะเวลาการชำระงวดแรกในวันที่ 21 มีนาคม 2559 นี้

[caption id="attachment_37511" align="aligncenter" width="700"] ลำดับเหตุการณ์ คลื่น 900 Mhz ลำดับเหตุการณ์ คลื่น 900 Mhz[/caption]

แต่สาระสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามตามมาว่า เมื่อราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาท แล้วผู้ชนะการประมูลรายใหม่อย่าง "แจส โมบาย" จะกล้าเสี่ยงจ่ายค่าใบอนุญาตหรือไม่

แม้ "แจส" หรือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ แจส โมบายฯ ออกมาเคลื่อนไหวควักเงิน 6 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคืนจำนวน 20% ในราคา 5 บาท ในครั้งนี้แม้แต่นักวิเคราะห์เองก็ยังเดากันไปคนละทิศทางบางค่ายคิดว่า "ถอย" บางค่ายคิดว่า "ไปต่อ"

 "ทรู มูฟ เอช" เดินหน้าลุย

ในขณะที่ฟาก TUC ผู้ชนะประมูลอีกราย ในกลุ่มทรู นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มทรู สั่งทีมงานเดินหน้าลุย จ่ายค่าใบอนุญาตงวดแรกเมื่อ วันที่ 11 มีนาคม 2559 ถือฤกษ์งามยามดีเวลา 13.39 น. นำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกจำนวน 8.04 พันล้านบาทพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% และหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนเงินที่เหลือ 6.82 หมื่นล้านบาท มาชำระให้กับ กสทช.

หลังจากชำระเงินแล้วเสร็จวันที่ 14 มีนาคม 2559 ทางกสทช. จะมอบใบอนุญาตให้กับ TUC ซึ่งตามโรดแมป ของ TUC จะเปิดให้บริการในกลางเดือนมีนาคม โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 5.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ติดตั้งเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ตั้งเครือข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1.6 หมื่นสถานีภายในเดือนพฤษภาคม และจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นสถานีในสิ้นปี พร้อมกับวางเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีจะมีเครือข่ายครอบคลุมมากถึง 3 หมื่นสถานี ขณะที่ เงินส่วนที่เหลืออีกก้อนคือจำนวน 2.1 หมื่นล้านจะนำไปลงทุนติดตั้งเครือข่ายบนคลื่นความถี่ 850-1800 เมกะเฮิรตซ์และ 2100 เมกะเฮิรตซ์

 เปิดศึก "เอไอเอส"

เป็นเพราะคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ กสทช.นำมาเปิดประมูลในครั้งนั้นคลื่นความถี่เดิมเป็นของ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 และ กสทช.ได้ออกมาตรการเยียวยามาต่อเนื่อง แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ปรากฏว่า กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ได้มีมติไม่ขยายมาตรการเยียวยา

แต่ทว่า ทรูมูฟ เอช ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมต่อ กทค. พร้อมอ้างมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยการป้องกันประโยชน์สาธารณะในกรณีฉุกเฉิน โดยให้ เอไอเอส และบริษัทลูก คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด สามารถใช้งานคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนของ TUC ต่อไปได้อีก 3 เดือน การยื่นข้อเสนอครั้งนี้ TUC ได้ให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายที่ทำให้ลูกค้าเอไอเอสซิมดับ และเพื่อให้ เอไอเอส สามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่อีก 3 เดือน ในการโอนย้ายลูกค้า 2จี ออกจากระบบพร้อมให้ชำระค่าเช่าคลื่นความถี่เดือนละ 450 ล้านบาท

 เอไอเอส เซย์โนคลื่นทรูขอใช้คลื่น "แจส"

แม้ TUC เสนอเงื่อนไขให้ เอไอเอส มาเช่าใช้คลื่นความถี่ 900 พร้อมค่าเช่าเพื่อป้องกัน "ซิมดับ" แต่ทว่าการประชุมระหว่าง กสทช.-TUC-เอไอเอส และ ทีโอที ในเบื้องต้นปรากฏว่า ทาง เอไอเอส ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ลูกค้า 900 ที่เหลืออยู่ในระบบของ เอไอเอส มีเพียง 4 แสนเลขหมายเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 8 ล้านเลขหมายได้ทำการโรมมิ่งกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพื่อใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่มีปัญหาเรื่องซิมดับ ดังนั้นคลื่นที่ต้องการขณะนี้จึงมีเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ ในคลื่นล็อตที่ 1 ซึ่งเป็นคลื่นที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูล หากต้องใช้คลื่นล็อตที่ 2 ซึ่งเป็นของ TUC ก็ไม่สามารถจูนคลื่นได้ทันก่อนซิมดับ

 หวั่นผิดกฎหมาย

ครั้น เอไอเอส เสนอเงื่อนไขขอเช่าใช้คลื่นช่วงแรกของ แจส โมบายฯ แต่ทาง กสทช.หวั่นผิดกฎหมายเพราะตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) แต่ก็ยังมีมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยการป้องกันประโยชน์สาธารณะในกรณีฉุกเฉินที่อาจจะทำได้ ซึ่งทั้ง เอไอเอส และ กสทช.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นเดียวกัน

 3 ค่ายค้าความ

เป็นเพราะผู้ใช้บริการระบบ 2 จีคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ยังค้างท่ออยู่ในระบบของ เอไอเอส หากแต่ช่วงที่เป็นรอยต่อของการประกาศรับรองผลชนะการประมูลของ กสทช.ที่ให้ TUC และ จัสมิน โมบายฯ เป็นผู้ชนะการประมูลดังกล่าว

เป็นช่วงจังหวะที่ เอไอเอสฯ ทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวน 7 พันล้านบาท แจกเครื่องฟรีให้กับลูกค้า 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่ในระบบของ เอไอเอส จำนวน 1 ล้านเลขหมาย และ อยู่ในระบบ เอดับบลิวเอ็น อีกจำนวน 10 ล้านเลขหมาย ซึ่งกลุ่มลูกค้าจำนวน 1 ล้านเลขหมาย ยังใช้ ซิมการ์ด และ เครื่องในระบบ 2 จี ขณะที่กลุ่มลูกค้าอีก 10 ล้านเลขหมาย "ซิมการ์ด" ที่ใช้งานเป็นระบบ 3 จี แล้วแต่เครื่องยังเป็น 2 จี อยู่

ขณะที่ ทรูมูฟ เอช แม้ยังไม่ได้คลื่นความถี่อย่างเป็นทางการในช่วงเวลานั้นก็ทำแคมเปญแจกเครื่องฟรี โดยใช้ช่องทางของ 7-11 เป็นแขนขาในการทำตลาด ทั้ง เอไอเอสและดีแทค ต่างก็ไม่พอใจในวิธีการโอนย้ายค่ายของ ทรูมูฟ เอช เช่นเดียวกัน และให้ กสทช. มาทำการตรวจสอบในเรื่องนี้

ในที่สุด TUC มอบหมายผู้แทน ได้แจ้งความต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้ทำผิด ในเรื่องที่ลูกค้าร้องเรียนว่า ถูกปิดกั้น มิให้สามารถโทร.ติดต่อมายังเครือข่ายทรูมูฟเอช แคร์ 1331 เพื่อรับประโยชน์ในการย้ายค่ายเบอร์เดิม จากเครือข่ายเอไอเอส มาเป็น ทรูมูฟ เอช ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการสื่อสาร โดยถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง รบกวน และถูกดักรับไว้ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินทั้งยังเกิดความเสียหายทางแพ่ง ขณะทางเอไอเอสยืนยัน ลูกค้าสามารถโทร.ออกได้ตามปกติ

รอลุ้น "แจส" จ่าย หรือ ไม่จ่าย

ขณะที่ ทรูมูฟ เอช จ่ายค่าคลื่นความถี่ 900 ในงวดแรกพร้อมวงเงินค้ำประกันจาก 6 แบงก์ แต่ทว่าท่าทีของ แจส โมบายฯมีแต่ความเคลื่อนไหวของบริษัทแม่คือ แจส ที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้เงิน 6 พันล้านบาทจะซื้อหุ้นคืนจำนวน 20% ราคาซื้อหุ้นอยู่ที่ 5 บาท

แต่ทว่าการประกาศซื้อหุ้นคืนของ "แจส" ครั้งนี้นักวิเคราะห์บางค่ายบอกว่า "แจส" ยกธงขาว แต่บางค่ายบอก "แจส" ไม่ถอยจะใช้วิธีเพิ่มทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ แจส ก็ประกาศชัดเจนว่า จะไม่เพิ่มทุน เตรียมเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปีมีลูกค้า 5 ล้านราย

สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่บอกว่า แจส ไม่เพิ่มทุนอย่างแน่นอน ซึ่ง แจส มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถึงวันนี้ "พิชญ์" ก็ยังไม่ถอย

ถามว่าถ้า แจส โมบายฯ ไม่ชำระค่างวดได้ทันในวันที่ 21 มีนาคมนี้ จะถูกยึดเงินประกัน 644 ล้านบาท ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประมูล 4 จี เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ทรงอิทธิพลเสียเหลือเกิน!! จนเกิดเกมการตลาดที่ชิงไหวชิงพริบเปิดศึกแย่งชิงลูกค้าทั้งใต้ดินและบนดิน

แต่สุดท้ายต้องรอดูตัวแปรอย่าง "แจส โมบาย" จะสู้หรือถอย คำถาม? ถ้าสู้แหล่งเงินทุนจากไหน ถ้าถอยจะหาทางลงอย่างไร น่าติดตามยิ่ง!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559