กลต. ยุคทิ้งทวน จับ "บิ๊ก" ปั่นหุ้น

24 ม.ค. 2562 | 01:22 น.
ทิ้งทวนก่อนพ้นตำแหน่ง ก.ล.ต. ยุค "รพี สุจริตกุล" ฟันปั่นหุ้นรายใหญ่ "อมร มีมะโน" และพวก 40 ราย ปั่นหุ้น AJD เปรียบเทียบปรับ 1,727 ล้านบาท และ "หมอเสริฐ" โดนคดีปั่นหุ้น BA ปรับ 500 ล้านบาท ... "ฐานเศรษฐกิจ" เปิดเส้นทางคดี ถ้าไม่ยอมจ่ายค่าปรับ โดนซํ้าทั้งคดีแพ่ง-คดีอาญา

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะมีกฎระเบียบ มีการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนักลงทุนทุกราย แต่ผู้กระทำความผิดก็มักจะหาช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายในการกระทำผิด เพื่อแลกกับผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก คดีปั่นหุ้นรับต้นปี 2562 ที่เป็นข่าวดัง เกิดกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของประะเทศไทย นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, ลูกสาว และเลขาฯส่วนตัว ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า มีความผิดฐานปั่นหุ้น บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส จำกัด (มหาชน) หรือ BA ต้องถูกดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 499.45 ล้านบาท

เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกรณีปั่นหุ้นที่ใหญ่กว่า คือ หุ้นของบริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) AJD (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA) เปรียบเทียบปรับ 1,727.38 ล้านบาท


MP17-3438-A

ในปี 2560 มีการลงโทษผู้กระทำความผิดสร้างราคาหุ้น 1 คดี ค่าปรับ 3.14 ล้านบาท มาในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน การลงโทษคดีสร้างราคาหุ้นมีมากถึง 5 คดี ผู้กระทำความผิด 76 ราย และมีค่าปรับ 2,610.74 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่สิ้นเดือน เม.ย. นี้ และผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. คนต่อไป คือ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี คนปัจจุบัน

การดำเนินการต่อผู้กระทำผิดกรณีปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จะใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายช่องทางใหม่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด ต้องตกลงทำ "บันทึกการยินยอม" กับสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อชำระเงินครบถ้วนแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญาจะสิ้นสุดลง แต่หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ก.ล.ต. จะร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลสั่ง และสิทธิในการดำเนินคดีอาญายังไม่สิ้นสุดในกรณีนี้

 

[caption id="attachment_378511" align="aligncenter" width="503"] รพี สุจริตกุล รพี สุจริตกุล[/caption]

ส่วนกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตาม สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจฟ้องต่อศาลแพ่ง และดำเนินคดีต่อไปและหากฝ่าฝืนข้อตกลงก็มีสิทธิโดนคดีอาญาในข้อหาใหม่

นายวราห์ สุจริตกุล รองประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถูก ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการโทษปรับหรืออาญา ตนมองว่าไม่กระทบต่อตลาด แต่จะสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น ดีกว่าในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วแต่มาตรการลงโทษปกป้องนักลงทุนรายย่อย ยังน้อยกว่าบ้านเราด้วยซํ้า

"การที่ ก.ล.ต. เข้ามามีบทบาท ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุน ดีกว่าเราเห็นหุ้นตัวหนึ่ง ถูกปั่นหุ้นแล้วรายย่อยเจ็บตัว แต่ไม่มีใครทำอะไรเลย อันนั้นจะน่ากลัว เพราะจะเป็นเหมือนเมืองเถื่อน ซึ่งกลไกของ ก.ล.ต. ก็อาจไม่เร็ว เพราะมีกระบวนการสอบสวน แต่ว่าการมีกลไกและกลไกใช้งานได้ ตรงนี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญ"

ผู้บริหารหลักทรัพย์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า การที่ ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการโทษทางแพ่ง ล่าสุด กรณีสร้างราคาหุ้น AJA เรียกปรับ 1,727.38 ล้านบาท กับกรณีปั่นหุ้น BA โดยสั่งปรับ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ พร้อมบุตรสาว 500 ล้านบาท ผลกระทบต่อราคาหุ้นก็ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด บจ. ที่ถูกกล่าวโทษ ก็ต้องทำผลประกอบการให้ดีขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม เพราะกลไกตลาดทุน เป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย แต่จะส่งผลดี ทำให้ บจ. เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439  วันที่ 24-26 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว