ผู้ส่งออกข้าวประเมินส่งออกข้าวปีนี้ 9.5 ล้านตัน หลังตลาดหลักของไทยลดปริมาณการนำเข้าข้าว ประกอบกับราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง - ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า ทำให้ขีดความสามารถของไทยลดลง ส่วนส่งออกข้าวปี 61 ไทยยังคงอันดับ 2 ส่งออกได้ในปริมาณ 11.09 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ในปริมาณ 11.97 ล้านตัน
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวปีนี้ยังไม่สดใส ทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่ไทยจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ โดยการส่งออกปี 2561 ไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย โดยมีปริมาณ 11.09 ล้านตัน มูลค่า 180,270 ล้านบาท หรือ 5,619 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ อินเดียส่งออกอยู่ที่ 11.97 ล้านตัน ส่วนในปีนี้ สมาคมคาดการณ์ว่า การส่งออกปีนี้สมาคมคาดการณ์ไว้ที่ 9.5 ล้านตัน เพราะหลายตลาดสำคัญของไทยมีปริมาณการนำเข้าลดลง ไม่ว่าจะเป็น เบนิน เคนยา ญี่ปุ่น โดยข้าวหอมมะลิถือว่าลดลงทุกประเทศ เพราะปีที่ผ่านมา ราคาข้าวหอมไทยสูงมาก ถ้าเทียบกับปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับปี 2561 ราคาข้าวหอมมะลิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิลดลง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา ที่มีการหันไปนำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศอื่นแทน ส่วนข้าวเหนียวและปลายข้าวมีปริมาณลดลงเช่นกัน แต่เป็นการลดลงอย่างมีนัยยะ โดยที่ลดลง คือ ปลายข้าวเหนียว ส่วนข้าวเหนียวส่วนใหญ่จะเน้นการบริโภคภายในประเทศ
สำหรับการคาดการณ์ผลผลิตทั่วโลก ปี 2562 น่าจะมีผลผลิตอยู่ที่ 491.1 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561 ที่มีปริมาณ 495 ล้านตัน ส่วนไทยน่าจะมีผลผลิตอยู่ที่ 20.7 ล้านตันข้าวสาร
ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภาพรวมการส่งออกข้าวในปีนี้ ว่า ค่อนข้างเหนื่อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งลดลงค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ปีนี้น่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน แม้ว่าผลผลิตจะไม่ลด แต่การส่งออกน่าจะลดลง โดยสมาคมมีการปรับตัวเลขการส่งออกข้าวเกือบทุกชนิด โดยข้าวขาว 5% ปี 2561 ส่งออกปริมาณ 5.9 ล้านตัน ปีนี้ปรับลดลงเหลือ 4.8 ล้านตัน ข้าวนึ่ง จากเดิม 2.7 ล้านตัน เหลือ 2.4 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ จาก 1.6 ล้านตัน เหลือ 1.3 ล้านตัน เป็นต้น สาเหตุหลัก ๆ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวมีการสต็อกข้าวไว้ในปีที่ผ่านมาจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ ที่มีการซื้อข้าวจากไทยไปเป็นจำนวนมากเพื่อสต็อกไว้ ดังนั้น ในปีนี้ประเทศเหล่านี้จะลดปริมาณการนำเข้าลง
สำหรับปัจจัยลบในปีนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยลบอยู่ เพราะค่าบาทของไทยแข็งกว่าประเทศคูแข่งสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.28% ขณะที่ ค่าเงินดองของเวียดนาม แข็งค่าขึ้นเพียง 0.05% ค่าเงินรูปีของอินเดีย อ่อนค่าลง 1.88% ดังนั้น หากค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าอยู่ในระดับ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวหอมมะลิ เดิมราคาอยู่ที่ 1200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ราคาขายจะขยับมาอยู่ที่ 1800 ดอลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้น 57% หรือ ราคาข้าวขาว 5% เดิมราคาอยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ราคาจะขยับมาอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้น 19% ซึ่งทำให้ขีดความสามารถด้านการแข่งขันลดลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบด้านอื่น เช่น อินเดียมีมาตรการกระตุ้นการส่งออก โดยที่รัฐบาลอุดหนุนเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ส่งออกในอัตรา 5% ของมูลค่าส่งออก ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกสามารถกำหนดราคาขายต่ำกว่าประเทศอื่น ในขณะที่ ราคาข้าวขาวเวียดนามมีแนวโน้มลดต่ำลง หลังจากที่มีอุปสรรคในการส่งออกไปจีน นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มีสต็อกข้าวปริมาณมากและมีการระบายข้าวเก่าในสต็อกที่เก็บสำรองไว้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น และข้าวบางส่วนถูกส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในแอฟริกาไป รวมไปถึงประเทศผู้นำเข้าข้าวมีการปรับนโยบายในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะลดการนำเช้า เนื่องจากปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าในปริมาณที่มาก หรือ ฟิลิปปินส์ มีการปรับนโยบายนำเข้าข้าว โดยเอกชนมีบทบาทในการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมากขึ้น
ส่วนปัจจัยบวก เช่น อินเดีย อยู่ในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าทุกปี เพื่อเก็บสต็อกไว้ ทำให้มีข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาในการจัดหาสินค้า ซึ่งทำให้การส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มลดลง หรือ การขายข้าวเป็นจีทูจี ที่จะมีการเจรจาเพิ่มในปีนี้ เป็นต้น