ภายหลังจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)ได้ตัวผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าหน่วยงานนี้จะถูกหลายฝ่ายจับตามองการขับเคลื่อนองค์กรว่าจะสามารถสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลได้ช้าหรือเร็วเพียงใดโดยเฉพาะการเชื่อมโยงประตูทางเศรษฐกิจของประเทศออกสู่ทะเลที่ผู้อำนวยการกทท.จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ แนวคิดบริหารจัดการและการพัฒนาท่าเรือให้เป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้ ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงศ์ ผู้อำนวยการกทท.ให้สัมภาษณ์ถึงวิสัยทัศน์ของกทท.ว่ามุ่งมั่นพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติเพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community : AEC) ในปี 2558 นี้บทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก และบทบาทของผู้ให้บริการการขนส่งทุกระบบข้างต้นจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น
กำหนดทิศทางของท่าเรือไทยในอนาคตไว้อย่างไร
กทท.จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านบริการให้มีรูปแบบที่ครบวงจรมากขึ้น ดังนั้น ท่าเรือในยุคต่อไปจึงมีแนวโน้มเป็นท่าเรือที่มี "การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์" ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลัก ในด้านการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) คือ การขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำภายในประเทศ ดังนั้น ท่าเรือในอนาคตจึงควรมีวิวัฒนาการไปสู่การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากกิจกรรมหลักด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบแล้วยังควรมีกิจกรรมหลักอื่นๆ คือ การบริหารสินค้าคงคลัง กระบวนการสั่งซื้อ การบริหาร-ข้อมูล และการบริหารการเงิน
ในส่วนแนวคิดด้านการบริหารงาน กทท.นั้นอันดับแรกที่จะต้องให้ความสำคัญคือ ด้านการบริหารงานบุคคล เป็นแผนแม่บทเพื่อใช้งานในระยะยาว และจำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ด้านการบริหารงานการเงินจะต้องนำนวัตกรรมการบริหารงานการเงินและการบัญชีเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน อาทิเช่น การนำระบบบัญชีบริหาร (Accounting Management) มาเป็นเครื่องมือการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจการลงทุนแต่ละเรื่องจะต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ต้นทุนหรือผลประโยชน์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติและองค์กร ด้านการปฏิบัติงาน กทท. ตระหนักถึงการให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลาในพื้นฐานของค่าบริการที่เป็นธรรม ด้านการวิจัยและวางแผนงาน กทท. ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยตลาด ความพึงพอใจของลูกค้า ในการบริการปัจจุบัน และการวิจัยตลาด โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสแก่นักลงทุนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศ ด้านการสร้างภาพลักษณ์องค์กร ต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในบทบาทหน้าที่ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน ประชาชน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างการมีส่วนร่วม การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีส่วนร่วมทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ประกอบกับการพัฒนาท่าเรือไทยในอนาคตจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาประเทศให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการที่รัฐบาลลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น รถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ การก่อสร้างถนน การพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนไปยังเมืองหลักตามแนวชายแดนและเมืองใหญ่ สามารถลดต้นทุนการผลิตให้เกิดการแข่งขันในตลาดโลกได้
"กทท.จึงวางแนวทางการพัฒนาท่าเรือให้สอดคล้องไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการให้บริการ ณ จุดขนถ่ายสินค้าเท่านั้น แต่ควรขยายขอบเขตการให้บริการไปยังพื้นที่ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ด้วย เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจท่าเรือในอนาคตต่อไป"
กำหนดแผนบริหารจัดการท่าเรือในอนาคตอย่างไร
กทท.ได้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการรองรับการเติบโตในอนาคตเพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งหลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศให้ต่ำลง ซึ่งกทท.กำหนดแผนพัฒนาโครงการที่สำคัญไว้ดังนี้คือ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator : SRTO) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ที่ท่าเรือกรุงเทพ โครงการสร้างสถานีบรรจุสินค้าส่งออก (CFS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก (Exported Container Freight Station) โครงการพัฒนาพื้นที่ 17 ไร่ บริเวณด้านข้าง กทท. เป็นอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี โครงการศูนย์บริการแบบครบวงจรจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และโครงการเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559