"ม.นเรศวร" ผนึกเอกชนผลิต โบกี้และตู้โดยสารรถไฟ ระดับเวิลด์คลาส

25 ก.พ. 2562 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2562 | 16:44 น.
ม.นเรศวร ผนึก บ.ปิ่นเพชรมารีน-กลุ่มอุตสาหกรรมพันธมิตร ผลิตโบกี้ใช้พลังงานไฟฟ้า ยกระดับงานบริการสู่ระดับเวิลด์คลาสวีไอพี นำร่องโบกี้แรกลงทุน 32 ล้าน

 

[caption id="attachment_393161" align="aligncenter" width="445"] เมธัส เลิศเศรษฐการ เมธัส เลิศเศรษฐการ[/caption]

นายเมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ปิ่นเพชรมารีน จำกัด เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และพันธมิตรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เร่งต่อยอดผลการคิดค้นวิจัยและพัฒนารถเพาเวอร์คาร์ใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าไปสู่การพัฒนาโบกี้โดยสารรถไฟใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าระดับเวิลด์คลาสสุดหรู เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของประชาชน


27265

"เป้าหมาย คือ อยากให้ประเทศไทยมีการผลิตรถไฟเป็นแบรนด์ของตนเอง จึงเริ่มต้นจากรูปแบบวีไอพี เพื่อต่อยอดการผลิตรถพาวเวอร์คาร์ไปสู่การผลิตโบกี้โดยสารต่อพ่วงใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าร่วมกับรถพาวเวอร์คาร์ มุ่งตอบโจทย์การผลิตรถไฟโดยสารในประเทศไทยให้สำเร็จ โดยร่วมกับพันธมิตรทางการผลิตโบกี้ แคร่ประตูหน้าต่างห้องนํ้า เบาะทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ อาทิ จีน เยอรมนี นำร่องลงทุนวิจัยและพัฒนาด้วยวงเงินเพียง 32 ล้านบาท โดยภาคเอกชนและภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในครั้งนี้ด้วย คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ สำหรับโบกี้นำร่องคันแรกก่อนที่จะมอบให้ รฟท. ไปบริการเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดสำคัญหารายได้ให้ รฟท. ทั้งรูปแบบเหมาโบกี้และเฉพาะบุคคล"

นายรัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการ สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า พร้อมสานต่อนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ รฟท. เป็นผู้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยใช้โมเดลของจีนไปพัฒนา

"นโยบายภาครัฐชัดเจนแล้วว่า เร่งส่งเสริมการผลิตรถไฟใช้ในประเทศ เชื่อว่าอีก 10 ปี จะมีแต่เทรดเดอร์หรือผู้ค้าแทบทั้งหมด รายไหนเป็นอุตสาหกรรมจะได้เปรียบ ดังนั้น หากไทยยังไม่เริ่มต้นผลิตรถใช้เอง ก็จะแข่งขันสู้ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ ประการสำคัญ รฟท. มีแผนจัดซื้อรถใหม่อีกหลายคัน คิดเป็นมูลค่ามหาศาล ดังนั้น หากสามารถต่อยอดผลการวิจัยได้ทันที ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ผลิตเองได้ราคาถูกกว่า แถมสร้างงานในประเทศได้อีกมากมาย ประกอบกับไทยมีแผนพัฒนาระบบรางเป็นของตนเองให้สามารถผลิตบางรายการได้ในประเทศ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น เมื่อคนไทยผลิตได้ ต่อจากนี้ไป รัฐบาลไทยก็น่าจะซื้อผลงานของคนไทยไปใช้ประโยชน์ เลิกนำเข้า เริ่มต้นจากโครงการที่เป็นผลงานขนาดย่อม ก่อนขยายให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต ขอเพียงรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง"

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว