ก.ล.ต.เชือดล็อตใหญ่บิ๊กบจ. วัดใจ‘ธรรมาภิบาล’ผู้เกี่ยวข้อง

23 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
กลิ่น "อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง" หรือการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นของผู้บริหารระดับสูงบริษัทจดทะเบียน(บจ.)นับว่าแรงมาก ๆในช่วงนี้ กรณีของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ยังไม่ทันจาง ก็มีอีกชุดใหญ่ จนทำให้มีเสียงฮือเพื่อถามหา "ธรรมาภิบาล" หรือซีจี กลับมาอีกระลอก

[caption id="attachment_39871" align="aligncenter" width="700"] ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ถูกลงโทษ 5 บริษัท ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ถูกลงโทษ 5 บริษัท[/caption]

โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เชือดล็อตเดียว 5 บริษัทเลยทีเดียว และเป็นที่น่าสังเกตว่ารอบนี้ก็ล้วนเป็นระดับบิ๊ก บจ. เช่นเคยประเด็นการใช้ข้อมูลภายใน ยอดฮิต คือ ข่าวการซื้อขายกิจการ ซึ่งมีทั้งการปล่อยข่าวผ่านสื่อเพื่อผลักดันราคา การอาศัยข้อมูลที่ล่วงรู้ก่อนนักลงทุนซื้อขายหุ้นในบัญชีของตัวเอง และบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้มีกรณีที่น่าสนใจ คือ การมีพฤติกรรมสับขาหลอก หรือการแจ้งข้อมูลเท็จ เข้ามาด้วย (ดูตารางประกอบ)

มาดูพฤติกรรมของผู้บริหารบจ.ชื่อดังที่ถูกลงโทษ ซึ่งจะหยิบยกมาเฉพาะบจ.ที่มีนักลงทุนสถาบันถือหุ้น เริ่มที่กรณีเศรษฐีใหม่ "สมยศ อนันตประยูร" บิ๊กบอส บมจ. ดับบลิวเอชเอ (WHA) ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายสมยศ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับผิดชอบในการดำเนินกิจการ และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHA ได้เผยแพร่ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557 มีใจความสำคัญว่า WHA กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง ที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นบริษัทที่มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 10 เท่า มีอายุมากกว่า 20 ปี และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับ WHA

ก.ล.ต.ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแพร่ข่าวในข้อเท็จจริงที่มิได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อน และมีสาระสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน อันอาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ WHA ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

กรณี "ชัย โสภณพนิช " ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่านายชัย ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารของ บมจ. กรุงเทพประกันภัย (BKI) เสนอให้มีการจ่ายหุ้นปันผลให้กับผู้ถือหุ้น BKI ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นปันผล เพิ่มเติมจากการจ่ายเงินปันผลตามปกติของ BKI จากผลการดำเนินงานประจำปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและจะมีผลด้านบวกต่อราคาหุ้น BKI โดยนายชัยเปิดเผยข้อมูลนี้ให้แก่บุคคลอื่นทราบ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้ซื้อหุ้น BKI ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าว จะถูกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก

นอกจากนี้ นายชัยยังเป็นกรรมการของบมจ. กรุงเทพประกันชีวิต ซึ่งได้รับใบอนุญาตนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) ซึ่งเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน การกระทำข้างต้น ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน นายชัยจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ได้เป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อื่นได้ในช่วงเวลาเดียวกัน

กรณี บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL)มีผู้บริหารถูกลงโทษรวม 6 ราย และถือเป็นกรณีที่ใหญ่ที่สุดในรอบนี้ โดย ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานว่า "วิทูร สุริยวนากุล " กับพวกรวม 4 คน ได้ซื้อและเป็นผู้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นบมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL-W )

โดยนายวิทูร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ GLOBAL มีอำนาจตัดสินใจเงื่อนไขความตกลงระหว่าง GLOBAL กับบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในการที่ SCG จะเข้าถือหุ้น GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ GLOBAL จะออกเสนอขายให้แบบเฉพาะเจาะจง โดย SCG จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ GLOBAL บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจของ GLOBAL แข็งแกร่งขึ้น

ขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 แต่พบว่าระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 23 สิงหาคม 2555 นายวิทูรได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ ส่วนกรณีนายสุรศักดิ์ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว จากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของ GLOBAL ได้ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น ในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายเอกกมล

ถัดจากนี้ต้องติดตามปฏิกิริยาของนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือ บลจ. ที่ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล เช่นที่เคยร้องเย้วๆกรณี บมจ.ซีพีออลล์ และเมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นพบว่า BKI GLOBAL และ WHA เป็นบริษัทที่มีกองทุนรวมต่างๆ ถือหุ้นดังนี้

หุ้น BKI มีกองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง ซึ่งบริหารโดย บลจ.เอ็มเอฟซีฯ และ บลจ.กรุงไทยฯ ถือหุ้นรวมกัน 2.98% , กองทุนเปิด อเบอร์ดีนโกรท ถือหุ้น 1.33% ,กองทุนเปิด อเบอร์ดีนสมอลแค็พ 1.22% ,กองทุนเปิด อเบอร์ดีนหุ้นระยะยาว 1.09% และกองทุนเปิด อเบอร์ดีนสมาร์ทแคปปิตอล เพื่อการเลี้ยงชีพ ถือหุ้น 0.58%

หุ้น GLOBAL กองทุนเปิด บัวหลวงทศพล ถือหุ้น 0.88% ,กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 ถือหุ้น 0.85% ,สำนักงานประกันสังคม (2 กรณี) ถือหุ้น 0.56 % ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งบริหารโดย บลจ.บัวหลวงฯ ถือหุ้น 0.53%

ส่วนหุ้น WHA มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้มาสเตอร์ร่วมทุน ถือหุ้น 0.54% และกองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล ถือหุ้น 0.54%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559