กระทรวงพลังงาน เฝ้าระวังใช้ไฟหน้าร้อน

21 มี.ค. 2559 | 10:48 น.
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย ลดพีคไฟฟ้า” ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นปีละ 600 เมกะวัตต์  โดยความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยอยู่ในช่วงเวลา 14.00 - 15.00 น. ทั้งนี้ ในฤดูร้อนของแต่ละปี (ปลายเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่บรรเทาอากาศร้อนด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศโดยลดระดับอุณหภูมิทำให้ Compressor ของเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ซึ่งมีสถิติว่าอุณหภูมิที่เพิ่มทุก 1 องศา จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 350 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 กระทรวงพลังงาน ได้คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ระดับ 29,018 เมกะวัตต์ และมีระดับเฝ้าระวังวิกฤตอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่เกิดขึ้นจริงของปีที่แล้ว (ปี 2558) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27,346 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าในช่วงฤดูร้อนนี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 44 องศาเซลเซียส ทำให้ยังมีการใช้เครื่องปรับอากาศและปรับลดระดับอุณหภูมิมากขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานยาวนานขึ้น

ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม และเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงต้นทุนสูงมาผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการรองรับและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องผลิตให้มากและเพียงพอที่จะป้อนสำหรับใช้ในช่วง Peak Load (พีคไฟฟ้า) หากไม่เพียงพอ จะต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกันเฝ้าระวังและรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน อุตสาหกรรม และเอกชน ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ผ่านกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย

ลดพีคไฟฟ้า” โดยร่วมปฏิบัติการ ‘ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน’ การใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า ทุกๆ วัน วันละ 1 ชม. ช่วงเวลา 14.00 น. – 15.00 น. เป็นระยะเวลา 2  เดือน 20 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2559 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak)

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดพีคไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ มาตรการลดพีค (Demand-Side Management) เป็นการปรับเปลี่ยนปริมาณและลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ เพื่อให้สมดุลกับการผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้นทางเลือกที่เราทำได้แน่ๆ และทำได้ทันทีคือ การประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น การปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับแอร์เพิ่ม 1 องศา  ปลดปลั๊กเมื่อเลิกใช้ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ซึ่งหากร่วมมือกันก็เชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤต    ทุกอย่างได้ ไม่เฉพาะแต่เรื่องพลังงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังมีภาคความร่วมมือเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอีกหลายด้าน เช่น การช่วยเหลืออุดหนุนด้านการเงินเพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และเกิดการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีกลไกภาคบังคับ เช่น การกำกับอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 การกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารใหม่ (Building Energy Code) การกำหนดติดฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้า

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กิจกรรม “รวมพลังคนไทย ลดพีคไฟฟ้า” ได้เริ่มรณรงค์ไปแล้วกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยจัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยที่พัทยา และจะรณรงค์ต่อเนื่องกับกลุ่มอาคารสำนักงาน และกลุ่มอุตสาหกรรม โดยร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนในภาคประชาชนจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และมีกลไกของพลังงานจังหวัดร่วมรณรงค์ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมมือกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม   ทั้งนี้คาดว่าผลจากการรณรงค์ตลอดระยะเวลา 2 เดือนนี้ จะทำให้ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชน เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ทำให้ Peak ปี 2559 ในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ระดับ 28,500 เมกะวัตต์ ต่ำกว่า 29,018 เมกะวัตต์