เมกะโปรเจ็กต์รัฐไม่ตอบโจทย์  บิ๊กปูนแห่โกยโอกาสในอาเซียน

01 มี.ค. 2562 | 23:47 น.

ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจปูนซีเมนต์รายใหญ่ในประเทศต้องเปิดกลยุทธ์บุกอาเซียนโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ออกไปเติบโตนอกบ้าน เติบโตในอาเซียน  เป็นการบริหารความเสี่ยงและเป็นการสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนที่กำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผล
 

นับเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ทำการบ้านมาอย่างดีของผู้เล่นรายใหญ่ หากย้อนกลับไปดูเส้นทางโกอินเตอร์ตั้งแต่การเดินสายศึกษาลู่ทางการลงทุน  ใช้เวลาเก็บเกี่ยวเก็บข้อมูลด้านการตลาด   สำรวจกลุ่มผู้บริโภค   จนมาถึงการออกไปทำการค้าชิมลางในประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน   จึงพร้อมตัดสินใจออกไปตอกเสาเข็ม  ตั้งโรงงานผลิต  หรือบางโครงการเลือกเดินทางลัดโดยการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุน เพื่อเข้าไปต่อยอดได้ทันทีเพราะมีฐานตลาดรองรับอยู่ก่อนแล้ว
 

การขยับตัวของผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่เดินมาถูกทาง ถูกเวลาในภาวะที่ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไม่ได้ขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น  แม้จะมีโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐออกมาประโคมข่าวปลุกความเชื่อมั่นรายวันจากความเคลื่อนไหวของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  แต่ในความเป็นจริง การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศยังไม่สามารถดึงกำลังการผลิตที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่  จากกำลังการผลิตรวมในประเทศที่มีรวมกันทั้งสิ้นราว  55-60 ล้านตันต่อปี  
 เมกะโปรเจ็กต์รัฐไม่ตอบโจทย์   บิ๊กปูนแห่โกยโอกาสในอาเซียน เพิ่มเพื่อน

-ไปลุ้นไตรมาสสี่
 

เห็นได้ชัดเจนช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต่างตั้งความหวังว่า เมกะโปรเจ็กต์รัฐและเอกชน จะมาเป็นตัวปลุกตลาด  กระตุกยอดการใช้ปูนซีเมนต์ได้มากขึ้นแบบพลิกหน้ามือ   แต่ที่ไหนได้ การขยายตัวในอุตสาหกรรมดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามคาด  ยังคงมีการบริโภคปูนซีเมนต์ราว  35-36 ล้านตันต่อปี!
 

การใช้กำลังผลิตในประเทศส่วนใหญ่เกิดจากงานเก่าที่ประมูลแล้ว งานซ่อมแซมบ้านในต่างจังหวัด  และที่น่าจับตามองนับจากนี้ไปการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐในช่วงใน3ไตรมาสแรกปี2562 คงยากที่จะได้รับอานิสงค์ที่เกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง  ในสถานการณ์ที่ยังอยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กว่าจะฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จ  และหลายโครงการยังเกิดความล่าช้า ติดขั้นตอน ติดกระบวนการยุบยิบ น่าจะได้เห็นการตอบสนองด้านการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศราวไตรมาสสี่ ปี2562เป็นต้นไป ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเศรษฐกิจกำลังขยายตัวดี  แต่ละประเทศเศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 5% ขึ้นไป
 

การโฟกัสตลาดอาเซียนของ 2 บิ๊กธุรกิจปูนซีเมนต์ SCG และ SCCC เมื่อหลายปีก่อน  แต่ละค่ายต่างนำรูปแบบการบริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ในประเทศไทยไปปรับใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน  และวันนี้กำลังสะท้อนผลบวก เมื่อความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตต่อเนื่อง ล้อตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทำให้2บิ๊กปูนซีเมนต์มีการลงทุนต่อเนื่อง (ดูกราฟิกกำลังผลิตแต่ละประเทศ)

 เมกะโปรเจ็กต์รัฐไม่ตอบโจทย์   บิ๊กปูนแห่โกยโอกาสในอาเซียน

“เอสซีจี” ประกาศไว้ชัดเจนเมื่อหลายปีก่อนว่า การกำหนดวิสัยทัศน์ เข้าไปดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้มองเห็นศักยภาพและมีโอกาสการเติบโตดี โดยขณะนี้โครงการลงทุนในอาเซียนมีความชัดเจนและคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ออกไปปักหมุดในประเทศเพื่อนบ้านและได้รับเสียงตอบรับมาดีโดยเฉพาะที่กัมพูชาและเมียนมา

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่าได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจซีเมนต์ของเอสซีจีในภูมิภาคอาเซียน ที่มุ่งสู่การให้บริการในรูปแบบ Construction solution มากยิ่งขึ้น โดยการนำองค์ความรู้และทักษะที่มีในเมืองไทยมาขยายต่อยอด  ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าในแต่ละประเทศ เช่น การออกแบบสินค้าซีเมนต์และคอนกรีตชนิดพิเศษที่เหมาะสำหรับงานเฉพาะด้าน เช่น Airport Solution ซึ่งเป็นบริการซ่อมแซมรันเวย์ในสนามบินของอินโดนีเซีย โดยใช้คอนกรีตสูตรพิเศษที่ set ตัวเร็ว หรือการออกสินค้าซีเมนต์ที่มีกำลังอัดเร็วสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสูงในเวียดนาม เป็นต้น

เอสซีจีมองว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีการเติบโตค่อนข้างดีในภาพรวม โดยมีปัจจัยหลักจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นหลัก

 

คุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน LINE : @THANSETTAKIJ 
เพิ่มเพื่อน

 

-จับตารายได้จากอาเซียน

ปัจจุบัน เอสซีจี มีโรงงานและกำลังการผลิตแต่ละประเทศในอาเซียน ดังนี้ 1.Kampot cement ในกัมพูชา เริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในปี 2551 มีกำลังการผลิต 2.1 ตันต่อปี , 2.Cement Jawa ในอินโดนีเซีย เริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในปี 2558 มีกำลังการผลิต 1.8 ตันต่อปี,3.Mawlamyine cement ในเมียนมา เริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในปี 2559 มีกำลังการผลิต 1.8 ตันต่อปี,4.Khammouane Cement ในสปป.ลาว เริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในปี 2560 มีกำลังการผลิต 1.8 ตันต่อปี,5.VCM ในเวียดนาม เริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในปี 2017 มีกำลังการผลิต 1.8 ตันต่อปี

 

จากผลประกอบการปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตถึง  118,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่นๆ อีก 86,155 ล้านบาท   ซึ่งธุรกิจปูนซีเมนต์ก็เป็นหนึ่งในรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างรายได้ในอาเซียน

 

ขณะที่บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC แบรนด์ "ปูนอินทรี" ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศ ที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้เติบโตช้า มีปูนซีเมนต์จากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา มีกำลังผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศส่งออกไป        เมื่อดีมานด์และซัพพลายเป็นแบบนี้ การแข่งขันก็จะรุนแรงมากขึ้นในขณะที่ความต้องการใช้โตช้า อีกทั้งทุนจีนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในเมียนมา สปป.ลาวและอินโดนีเซียยิ่งทำให้ภาพของกำลังผลิตในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเยอะ ทำให้ก่อนหน้านี้ SCCC ออกไปปักธงนอกบ้าน เดินสายเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่แล้วในประเทศเป้าหมายที่มองเห็นว่ามีศักยภาพ   สร้างโอกาสในการขยายฐานตลาด โดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มี ทำให้กำลังผลิตเติบโตนอกบ้านอย่างต่อเนื่อง

 

คุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน LINE : @THANSETTAKIJ 
เพิ่มเพื่อน

- เห็นโอกาสเติบโตในเวียดนาม-กัมพูชา

นายศิวะ มหาสันทนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC แบรนด์ "ปูนอินทรี"  กล่าวว่า นอกจากการออกไปลงทุนในอาเซียนแล้ว SCCC ยังมีการลงทุนในเซาธ์เอเชีย  ในประเทศศรีลังกาและบังคลาเทศ  โดยกลยุทธ์ที่มองคือมุ่งโฟกัสไปในประเทศที่มีศักยภาพมีการเติบโตในงานก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน  มองเห็นโอกาสจาก 2 ตลาดในอาเซียนที่มีการเติบโตสูงคือเวียดนามและกัมพูชา โดยการลงทุนทั้ง 4 ประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่เวียดนามเข้าไปถือหุ้นร่วมกับบริษัทท้องถิ่นสัดส่วน 65% ที่กัมพูชาร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นสัดส่วน 40% ส่วนในศรีลังกาและบังกลาเทศเข้าไปลงทุน 100% (ดูกราฟิกกำลังผลิต)

 

ซีอีโอ SCCC ตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับประเทศไทย การเติบโตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คงไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเติบโต 5-10% ต่อปี คงไม่กลับมาเป็นแบบนี้อีกแล้ว เมื่อเทียบกับโอกาสการเติบโตในเวียดนามและกัมพูชา 


สำหรับผลประกอบการรวมของ SCCC ปี 2561 มีรายได้จากการขายสุทธิของ SCCC ในธุรกิจปูนซีเมนต์ เท่ากับ 15,414 ล้านบาท (รวมรายได้จาก SCCC และ GLOBE บริษัทในเครือที่ซื้อกิจการมา)  ส่วนรายได้ธุรกิจปูนซีเมนต์จากการขายสุทธิ ในประเทศศรีลังกาอยู่ที่ 5,962 ล้านบาท  รายได้จากการขายสุทธิในประเทศเวียดนาม 7,748 ล้านบาท  และรายได้จากการขายสุทธิ ในประเทศบังกลาเทศ 1,295 ล้านบาท

 

ปี 2562 SCCC คาดการณ์ว่าตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทยภาพรวมเติบโต 3-4% จากความคาดหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากกำลังจะเกิดงานก่อสร้าง  ขณะที่ SCG คาดการณ์ภาพรวมความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้จะเติบโตเพียง 2-3% จากปีที่ผ่านมาหดตัว 5%โดยคาดหวังว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะเป็นรูปธรรม ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้น

 

SCG และ SCCC ต่างตั้งเป้าว่ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนนอกบ้านจะมีสัดส่วนสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ   ในขณะที่ตลาดในประเทศไทยปี 2562  ผู้ผลิตยังตั้งความหวังเหมือนทุกปีว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะได้รับอานิสงส์จาก 3 กลุ่มหลักคือ งานก่อสร้างที่อยู่อาศัย,การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะเป็นความหวังและสามารถตอบโจทย์การใช้ปูนซีเมนต์ให้คึกคักยิ่งขึ้นได้!!!
 

คุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน LINE : @THANSETTAKIJ 
เพิ่มเพื่อน

 เมกะโปรเจ็กต์รัฐไม่ตอบโจทย์   บิ๊กปูนแห่โกยโอกาสในอาเซียน