เก้าปี ‘ปิดทองหลังพระ’ สานต่อภาคเอกชนกับประชาชน 

10 มี.ค. 2562 | 05:13 น.

ปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรและชาวบ้านในชนบท ยังต้องเผชิญอยู่ทุกปี ก็คือ “ความยากจน และการขาดแคลนนํ้า” นี่จึงเป็นสาเหตุของการจัดตั้ง “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ขึ้น ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ จับมือกับภาคประชาชน-ธุรกิจและภาครัฐ เพื่อขยายผลแนวทางการพัฒนา ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” มาตั้งแต่ปี 2553

เก้าปี ‘ปิดทองหลังพระ’ สานต่อภาคเอกชนกับประชาชน 

พื้นที่แรกที่ปิดทองหลังพระได้เข้าไปดำเนินการ คือ ที่จังหวัดน่าน เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบ ก่อนที่จะขยายไปสู่ทุกภูมิภาค ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยแกนหลักของการทำงาน คือ การเพิ่มปริมาณนํ้าให้กับชุมชน ด้วยการบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบ เพราะนํ้าคือชีวิต เมื่อมีนนํ้า เกษตรกรก็สามารถทำกินได้ สร้างผลิตผลที่ดีได้ ซึ่งขณะนี้ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นเกือบ 1,000 ล้านบาท ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่รับนํ้าได้อีก 2.75 แสนไร่ ทำให้ประชาชนมีนํ้าใช้กว่า 7.9 หมื่นครัวเรือน และก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2,308 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน

การให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ แม้จะยังไม่เห็นผลที่เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด เพราะการฟื้นดินฟื้นนํ้าต้องใช้เวลา แต่ปิดทองหลังพระ ยังคงเดินหน้าร่วมมือกับภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ นำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้ชาวบ้าน “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” เล่าว่า ซีพีเคยมาหยิบยื่นเงินทุนให้ 60 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับ เพราะสิ่งที่ปิดทองหลังพระต้องการ คือ องค์ความรู้ของซีพี ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 60 ล้านบาท และตอนนี้ีซีพีก็ร่วมงานอยู่กับปิดทองหลังพระ ช่วยพัฒนาด้านการตลาด การสร้างแพ็กเกจจิ้ง ระบบโลจิสติกส์ และขยายช่องทางการขายพืชผลเกษตรกรสู่ประเทศจีน

เก้าปี ‘ปิดทองหลังพระ’ สานต่อภาคเอกชนกับประชาชน 

สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 10 ของปิดทองหลังพระยังคงเดินหน้า ส่งเสริมให้ประชาชนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างความแข็งแรงและสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า ซึ่งปัจจุบันมีกองทุน วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์รวม 70 กลุ่ม มีเงินทุนหมุนเวียนรวมกว่า 15.78 ล้านบาท 

หลักการทำงานของปิดทองหลังพระ ยึดแนวทาง 3 S ได้แก่ S - Survive อยู่รอด S - Sufficient พอเพียง และสุดท้ายคือ S - Sustainability ยั่งยืน นำการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มาสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน พร้อมส่งเสริมการทำ “เกษตรทฤษฎีใหม่แบบประณีต” โดยการทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ ทำให้เกิดความเป็นธรรม เกษตรกรไม่ถูกกดราคา พ่อค้าได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะมีการขยายและต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆ อีกจำนวนมากต่อไป

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,450 วันที่  7 - 9  มีนาคม พ.ศ. 2562

เก้าปี ‘ปิดทองหลังพระ’ สานต่อภาคเอกชนกับประชาชน