ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

07 มี.ค. 2562 | 09:10 น.

พลังงานเปิดขุมทรัพย์ปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย เผย แต่ละปีมีมูลค่าซื้อขายไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน ชี้! เหตุ ปตท.สผ. เร่งเจรจาขอซื้อหุ้นเชฟรอน หวังเป็นยักษ์ใหญ่กินรวบผลิตก๊าซของประเทศ ยันหากเชฟรอนขายทิ้งกิจการ เอกชนรายอื่นโดดร่วมแข่งขันแน่

ความพยายามของกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการชนะการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 โดยการเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติคงที่ในราคาค่อนข้างต่ำ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทั้ง 2 แหล่ง เพื่อเอาชนะกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เสนอราคาขายก๊าซค่อนข้างสูงแตกต่างกันมาก ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า การเสนอขายราคาก๊าซที่ต่ำนั้น จะคุ้มกับต้นทุนหรือมีกำไรจากการดำเนินงานได้หรือไม่

ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

⁍ หวั่นเข้าพื้นที่ 'เอราวัณ' ไม่ได้


นอกจากนี้ ทาง ปตท.สผ. ออกมายอมรับต้องการซื้อหุ้นของเชฟรอน ที่ถืออยู่ในแหล่งเอราวัณ 71.25% ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดในปี 2565 หลังจากที่เชฟรอนพ่ายแพ้การประมูล ด้วยเหตุผลหนึ่ง เพื่อให้การเข้าไปดำเนินงานในช่วงรอยต่อไม่เกิดสะดุด และสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้อย่างต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ราว 1,261 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากขณะนี้เองมีสัญญาณมาแล้วว่า ทางเชฟรอนไม่ยอมให้เข้าพื้นที่ เพราะยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

อีกทั้งต้องการซื้อหุ้นที่เชฟรอนถืออยู่ในแหล่งก๊าซอีก 7 แปลง ไม่ว่าจะเป็น แหล่งไพลิน ถือหุ้นในสัดส่วน 35% ผลิตก๊าซอยู่ที่ 395.7 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กลุ่มแหล่งทานตะวันและเบญจมาศ ถือหุ้นในสัดส่วน 51.66% ผลิตก๊าซอยู่ที่ 74.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งยูงทอง ถือหุ้นในสัดส่วน 71.25% ผลิตก๊าซอยู่ที่ 3.44 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งลันตาและสุรินทร์ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1.55 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่ง G8/50 ถือหุ้นในสัดส่วน 16% ผลิตก๊าซอยู่ที่ 0.75 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์ ถือหุ้น 16% ผลิตก๊าซที่ 295 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งราชพฤกษ์ ถือหุ้น 7.32% (ม.ค. 62 หยุดผลิตก๊าซ)

ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

⁍ กินรวบปิโตรเลียมอ่าวไทย

ดังนั้น หากเชฟรอนยินดีที่จะขายหุ้นทั้งหมด จะส่งผลให้กลุ่ม ปตท.สผ. กลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสต และน้ำมันดิบรายใหญ่สุดในอ่าวไทย โดยเฉพาะปริมาณการผลิตก๊าซฯ ที่จะมีมากกว่า 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสตไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบราว 8-9 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ บริษัทอื่น ๆ จะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กที่เข้าไปถือหุ้นในแหล่งต่าง ๆ และผลิตปิโตรเลียมในปริมาณที่ไม่มาก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มมูบาดาลา, บริษัท ออเร้นจ์ เอ็นเนอร์ยี่, บริษัท พลังโสภณฯ, บริษัท โมเอโกะ ไทยแลนด์ฯ, บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปฯ, บริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) เป็นต้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับ ปตท.สผ. อย่างมหาศาล ตามกลยุทธ์หรือนโยบายของ ปตท.สผ. อยู่แล้วที่ต้องการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ หากมาพิจารณาขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในอ่าวไทย ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ 48 แหล่ง ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติ 82,361.35 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน มีมูลค่าการขาย 16,185 ล้านบาทต่อเดือน มีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสต 33 แหล่ง มีปริมาณการผลิต 2,601,794 บาร์เรลต่อเดือน มีมูลค่าการขาย 4,638 ล้านบาทต่อเดือน แหล่งผลิตน้ำมันดิบ 31 แหล่ง ปริมาณการขาย 2.89 ล้านบาร์เรลต่อเดือน มีมูลค่าการขาย 5,571 ล้านบาท ซึ่งหากรวมมูลค่าจากยอดขายปิโตรเลียมทั้งหมดจะตกอยู่ที่ราวปีละกว่า 3.16 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกลุ่ม ปตท.สผ. ถึงอยากได้หุ้นของเชฟรอนมาครอบครองทั้งหมด

ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

⁍ หลายรายสนใจหุ้นเชฟรอน

แหล่งข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณจาก บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ บริษัทแม่จากสหรัฐอเมริกา ว่า จะขายหุ้นในแหล่งสัมปทานต่าง ๆ ซึ่งเข้าใจว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจ หลังจากแพ้การประมูลแหล่งเอราวัณให้กับกลุ่ม ปตท.สผ. แต่หากเชฟรอนตัดสินใจขายหุ้นทิ้งจริง น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายรายที่อยู่ในวงการธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ดำเนินการอยู่แล้วในอ่าวไทย เพราะนอกเหนือจาก ปตท.สผ. ให้ความสนใจซื้อหุ้นเชฟรอนแล้ว ที่น่าจับตายังมีอีก 2-3 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปัจจุบันได้จับมือกับกลุ่ม ปตท.สผ. เข้าประมูลแหล่งเอราวัณ ในสัดส่วนถือหุ้น 40% และต้องการขยายฐานธุรกิจปิโตรเลียมในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่นฯ จากญี่ปุ่น ที่เป็นพันธมิตรกับเชฟรอน ถือหุ้นในการเข้าประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชในสัดส่วน 24% ทั้ง 2 แหล่ง ได้ผิดหวังกับการประมูลครั้งนี้ หากเชฟรอนประกาศขายหุ้น ก็เป็นโอกาสที่จะตัดสินใจเข้าเจรจาซื้อหุ้นได้ เพราะปัจจุบัน มิตซุยฯ ถือหุ้นในแหล่งเอราวัณสัดส่วน 23.75% อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเชฟรอนประกาศขายหุ้นในแหล่งสัมปทานต่าง ๆ และ ปตท.สผ. ชนะในการเข้าซื้อหุ้น จะทำให้กลุ่ม ปตท.สผ. มีสัดส่วนในการผลิตปิโตรเลียมมากที่สุด โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ปัจจุบันผลิตอยู่ราว 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


 

ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

เพิ่มเพื่อน


⁍ ขุมทรัพย์ปีละกว่า 3 แสนล้าน

จากข้อมูลของกรมฯ พบว่า ในเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติทั้งประเทศ ประมาณ 86,065 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าราว 16,897 ล้านบาทต่อเดือน มีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสต 2.61 ล้านบาร์เรลต่อเดือน มูลค่า 4,652 ล้านบาทต่อเดือน และน้ำมันดิบมียอดขาย 3.77 ล้านบาร์เรลต่อเดือน มีมูลค่า 7,063 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ารวมที่ 2.53 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือราว 3.43 แสนล้านบาทต่อปี

ขณะที่ ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติในเดือน ม.ค. 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 78,199 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 15,103 ล้านบาทต่อเดือน มีปริมาณการขายคอนเดนเสต 2.456 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 4,359 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนน้ำมันดิบมียอดขาย 4.46 ล้านบาร์เรลต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 8,369 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่าทั้งหมด 27,831 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 3.3 แสนล้านบาทต่อปี

ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

ทั้งนี้ แม้รายได้จากการขายปิโตรเลียมทั้งประเทศจะอยู่ในปริมาณที่สูง แต่หากพิจารณาด้านการลงทุนในแต่ละปีแล้วจะมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อรักษาอัตรากำลังการผลิตและการขุดเจาะหาปริมาณปิโตรเลียมเพิ่ม


⁍ เปิดประมูลรอบใหม่กลางปีนี้

ส่วนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น ขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังเร่งดำเนินการศึกษาเปิดประมูลแปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทยเป็นรูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนผู้เสนอรับสิทธิ์และสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้ ประมาณ 6 แปลง พื้นที่ 1.18 หมื่นตารางกิโลเมตร เนื่องจากมีความจำเป็นต้องผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจี


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,450 วันที่ 7 - 9 มี.ค. 2562 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● ปตท.สผ.ดัมพ์ราคาก๊าซ 116 บาท/ล้านบีทียู ชนะเชฟรอนทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช

● 'เชฟรอน' ผิดหวังแพ้ประมูลเอราวัณและบงกช

● ปตท.สผ. กำ 1.2 แสนล้าน จ่อซื้อ "เชฟรอนไทย" ยกพวง

● ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

● ผวาเชฟรอน ปลดพันคน แห่ซบปตท.

● สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือไทย ยันเชฟรอนไม่ถอนการลงทุน

● 2 ยักษ์พลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตฯ ยื้อค่ารื้อถอนแสนล้าน

● กางพ.ร.บ.ปิโตรเลียม  อยู่เหนือสัญญาสัมปทาน

● รัฐลั่นเก็บค่ารื้อถอนแสนล้าน2ยักษ์พลังงาน

 ‘กุลิศ’ท้าชน ยักษ์เชฟรอน ค่า‘รื้อแท่น’




เพิ่มเพื่อน
ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'