ฐานโซไซตี : “เจ้าจำปี” ขาดทุนบักโกรก รอเวลาพลิกฟื้นมีกำไรเมื่อไร?

07 มี.ค. 2562 | 12:12 น.

เจ้าจำปี-001 นก-01
เรื่องฮอตแวดวงการบินช่วงนี้มีไม่กี่เรื่อง แต่ที่ฮือฮา “หนักมาก” หนีไม่พ้นผลประกอบการของสายการบินต่างๆ ตามงบปี 2561 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ 4 สายที่ออกมาแทบสลบเหมือด เมื่อสายการบินแห่งชาติ ขาดทุนบักโกรกหนักสุดถึง 1.16 หมื่นล้านบาท รองลงมา “นกแอร์” เจ้าเก่าขาดทุน 2.78 พันล้านบาท
 

แต่อีก 2 สายการบินยังมีกำไรอย่าง “แอร์เอเชีย” กำไร 70 ล้านบาท แต่ทิ้งห่างจากปี 2560 เกือบพันล้านบาท ซึ่งน่าตกใจ ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส กำไรนำโด่ง 249 ล้านบาท เหมือนน่าจะดีใจแต่เพราะดูเป็นกอบเป็นกำมากกว่าเพื่อน แต่เจาะดูเนื้อในเทียบกับปี 2560 กำไรลดลงถึง 68.4% จากที่เคยได้เมื่อปีก่อนโน้นสูงถึง 787 ล้านบาท
 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าอุตสาหกรรมการบินกำลังตกที่นั่งลำบากโดยสาเหตุหลักๆ มาจาก เรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น นํ้ามันแพง การแข่งขันรุนแรงและทัวร์จีนวูบจากเหตุเรือล่ม 3 สาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นเหตุผลสนับสนุนผลประกอบการแอร์ไลน์ปีที่แล้ว แต่ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์ส แม้กำไรมาก แต่จริงๆ แล้วมีรายได้จากการเข้าไปถือหุ้นบริษัทในเครือไม่ว่าจะเป็น BDMS และอื่นๆ

ฐานโซไซตี  : “เจ้าจำปี” ขาดทุนบักโกรก รอเวลาพลิกฟื้นมีกำไรเมื่อไร? เพิ่มเพื่อน

การบินไทยแจ้งว่าปีที่แล้วมีรายได้ 199,500 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 7,554 ล้านบาท หรือ 3.9% แต่มีค่าใช้จ่ายที่จุกอกสูงถึง 208,558 ล้านบาท หรือเพิ่มสูงขึ้นถึง 19,468 ล้านบาท ต้นทุนพุ่งฉิวเฉียด 2 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นบริษัททั่วไปบอร์ดคง “สติแตก” ไปแล้ว แต่นี่เป็นสายการบินของชาติ ต้องก้มหน้าแก้ปัญหากันไป
 

การบินไทยขาดทุนต่อหุ้น 5.33 บาท เพิ่มจากปีก่อนที่ขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะคนในการบินไทยที่เหมือนจะรู้ชะตากรรม ต้นทุนที่พุ่งเกือบทะลุ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่านํ้ามันที่เพิ่มขึ้นเกือบหมื่นล้านบาทหรือเน็ตๆปาเข้าไป 9,881 ล้านบาท คิดเป็น 19.7% จากราคานํ้ามันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นไม่เกี่ยวกับนํ้ามันอยู่ที่ 9,802 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.3% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนค่าซ่อมเครื่องบิน และการบินไทยมีกำไรจากค่าเงิน 911 ล้านบาท
บินไทย ตัวเลขขาดทุนที่น่าตกใจ จึงถูกถล่มยับในโลกโซเชียล กับคอมเมนต์ต่างๆ นานา ไม่ว่าควรยุบทิ้ง ให้เอกชนบริหาร เลิกเอาเงินภาษีไปอุดหนุน หรือตัดผลประโยชน์ของพนักงาน ฝ่ายบริหารและบอร์ดทิ้งเสีย ขาดทุนแต่ยังจะซื้อเครื่องบินเพิ่มอีกเป็นแสนล้านบาท สารพัดจะวิพากษ์วิจารณ์กันไป มีทั้งสร้างสรรค์และเอามันส์เข้าว่า
 

อันที่จริงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผ่านมา การบินไทยตัดกันจน“ร่อนจ้อน”แทบไม่เหลืออะไรให้ตัด ตั้งแต่สมัย “ปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์” กุมบังเหียน เป็นดีดีการบินไทยก็หั่นสิทธิ์บอร์ด และค่าใช้จ่ายจนแทบไม่เหลือ มาถึงยุค “จรัมพร โชติกเสถียร” ก็ตัดอีกพร้อมกับมีการยุบเส้นทางบินไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่บางเส้นทางแม้ไม่ทำกำไรแต่ก็ต้องบินเพราะเป็นการสร้างเน็ตเวิร์กเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเชื่อมโยงกันไปสู่จุดหมายปลายทางอื่นๆ

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน LINE : @THANSETTAKIJ 
เพิ่มเพื่อน

พูดถึงสวัสดิการพนักงานก็ถูกหั่นเหี้ยน “โบนัส”คนการบินไทยก็สะกดคำนี้ไม่ถูกมานานแล้ว เพราะไม่มี เงินเดือนไม่ต้องพูดถึงปรับให้เฉพาะแต่พนักงานระดับล่าง ฉะนั้นประเด็นเรื่องตัดค่าใช้จ่ายและสวัสดิการต่างๆ ยังเป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจผิด ส่วนนํ้ามันแพงสายการบินอื่นๆ จะโลว์คอสต์ หรือฟูลเซอร์วิส ก็เติมในราคานี้เหมือนกัน แต่จะได้เปรียบเสียเปรียบ อยู่ที่การ “เฮดจิ้ง” ราคานํ้ามันว่าใครมีฝีมือในการบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้ดีกว่ากัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องวัดกันด้วย “ฝีมือ” การบริหารล้วนๆ
 

ว่ากันตามเนื้อหา การตัดค่าใช้จ่าย คงทำได้ไม่มากเพราะแทบไม่เหลืออะไรให้ตัด สำนักงานในต่างประเทศ หรือหุ้นที่ถืออยู่ในธุรกิจ “นอนแอร์ไลน์” อาทิ โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน ก็ขายทิ้งไปแล้ว เครื่องบินเก่า 16 ลำก็จ่อคิวรอขายทิ้งอยู่ หากเป็นไปตามแผนก็น่าจะได้เงินสัก 4 พันล้านบาท โครงการ เออร์ลี่รีไทร์ ก็ทำมาแล้ว จะเห็นว่าทั้งทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายถูกตัดมาอย่างต่อเนื่อง จนแทบไม่เหลืออะไรให้หั่น ค่าใช้จ่ายเรื่อง“เซฟตี้”นั้นคงแตะไม่ได้อยู่แล้ว เพราะจะกระทบการบริการผู้โดยสาร และเรื่องความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1 ฉะนั้นก็ต้องดูกันต่อไปว่าบอร์ดชุดนี้จะพลิกฟื้นให้การบินไทยพ้นบ่วงขาดทุนกลับมามีกำไรได้เมื่อไร TP6-3449-A กลับมาดูดีลใหญ่ การเข้าไปทาบทามซื้อหุ้น “นกแอร์”ของ แอร์เอเชียจากตระกูล“จุฬางกูร” ที่ถืออยู่กว่า 60% เป็นประเด็นที่สะเทือนวงการ เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนที่ตระกูลนี้เข้าซื้อหุ้นหวังแตกไลน์มาจับธุรกิจแอร์ไลน์และฟูมฟักให้ สวยหรูดูดี แต่มาไม่ถูกจังหวะ ถูกเวลา แทนที่จะเป็นการเข้ามาฟื้นฟูนกแอร์ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง กลายเป็นว่าต้องเพิ่มทุนถึง 3 ครั้ง และขาดทุนยับเยินไปแล้ว 6.2 พันล้านบาท จนฝืนไม่ไหว เตรียม“ทิ้ง” หุ้นนกแอร์ให้ AAV ซึ่งฝ่ายบริหารนกแอร์ระบุว่ามีกลุ่มทุนมากกว่า 1 รายสนใจซื้อหุ้น NOK
 

สาเหตุที่ AAVนักลงทุนมาเลย์สนใจซื้อ หุ้นนกแอร์ มาจากหลายสาเหตุ ทั้งหวังยึดดอนเมืองเป็นฮับโลว์คอสต์-หวังกว่า 40 ล้านคนนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเที่ยวเมืองไทย-หวังต่อยอดนกแอร์กับแอร์เอเชียเพราะชื่อของนกแอร์ขายได้ และยังมีกระแสเงินสดเข้ามาเดือนละหลายร้อยล้านบาทจากการขายตั๋ว และที่สำคัญเมื่อ “จุฬางกูร” ทิ้งหุ้นนกแอร์ แล้วการบินไทยจะเอาไงเรื่องนี้ ประธานบอร์ด“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” บอกว่าได้มอบหมายให้ ดีดี-สุเมธ ไปดูแผนฟื้นฟูกิจการนกแอร์ว่าจะรอดหรือร่วง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะทิ้งหรือเก็บไว้ดี ฮ่า!
 

|คอลัมน์ : ฐานโซไซตี 
|โดย : พริกกะเหรี่ยง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3450 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 7-9 มี.ค.2562

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน LINE : @THANSETTAKIJ
เพิ่มเพื่อน

595959859

เพิ่มเพื่อน