สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

11 มี.ค. 2562 | 10:29 น.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562


วันนี้ (11 มีนาคม 2562) เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาปรุงแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ด้วยพระองค์เอง และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมายเพื่อใช้ในการเผยแพร่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในการนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องสักการะ และขอเชิญชวนประดับตราสัญลักษณ์ ตามอาคารสถานที่ และบ้านเรือน เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสานึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
สำหรับหลักเกณฑ์การเชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ไปประดิษฐานหรือประดับในสิ่งของต่าง ๆ มีดังนี้

1. ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องงานพระราชพิธีฯ ประดับบนผืนธง ประดับบนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ประดับบนป้ายเฉลิมพระเกียรติ ประดับบนโต๊ะหมู่บูชา ประดับตามอาคารสถานที่ บ้านเรือน และสถานที่ราชการ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความจงรักภักดีในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งในครั้งนี้ โดยประดับในห้วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563

2. ใช้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยเป็นการเชิญตราสัญลักษณ์ฯ มาประดิษฐานเป็นการถาวร ได้แก่ อาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ประดับบนสิ่งของ เช่น เสื้อ และหมวก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติ

สิ่งที่ไม่อนุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปใช้ประดับ เช่น แก้วน้ำ ขวดแก้ว จาน ชาม ช้อน แจกัน เหยือกน้ำ (เนื่องจากเป็นของแตกสลายได้) กำไล จี้ กล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยกเว้นสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
สำหรับหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท / ห้าง / ร้าน ที่มีความประสงค์จะเชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับหรือประดิษฐาน ให้มีหนังสือแจ้งความประสงค์พร้อมแบบคำขอใช้ตราสัญลักษณ์ไปที่คณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทร. 0 2283 4228 - 9  โทรสาร 0 2283 4248 - 9 ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (www.opm.go.th)

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแบบ เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ โดยด้านหน้าเป็นแบบตราสัญลักษณ์ ส่วนด้านหลังมีคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562” ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึกฯ เพื่อจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนได้อัญเชิญไปประดับในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขึ้นแบบเข็มที่ระลึก ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกฯ ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย รัฐบาลจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย ในส่วนของเสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างดำเนินการจัดท้าเสื้อต้นแบบ คาดว่าจะสามารถจ้าหน่ายได้พร้อมกับเข็มที่ระลึกฯ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 โดยในวันที่ 31 มีนาคม 2562 จะเปิดจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปเป็นปฐมฤกษ์ จำนวนอย่างละ 20,000 ณ อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ประกอบตัวย อักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็น วันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ําเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทอง สอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเตชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจําพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็น เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจํารัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง พระมหาพิชัยมงกุฏหมายถึงทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของ แผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน พระแสงขรรค์ชัยศรีหมายถึงทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดิน ให้พ้นจากภยันตราย ธารพระกรหมายถึงทรงดํารงราชธรรมเพื่อค้ําจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง

พระแส้จามรี กับพัดวาลวิชนีหมายถึงทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ ฉลองพระบาท เชิงงอนหมายถึงทรงทํานุบํารุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐาน พระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุต ระบายชั้น ล่างสุดห้อยอุบะจําปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ

เบื้องล่าง กรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียว ถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า “ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒” ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อน ประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ขั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้าง มีตอกลอยกนกนาศ แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญ รุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน