วุ่นไม่เลิก! รัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลงเบร็กซิท เก้าอี้นายกฯ สะเทือน ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว

13 มี.ค. 2562 | 05:57 น.

เหลือเวลาน้อยลงทุกทีก่อนถึงกำหนด "เบร็กซิท" (Brexit) หรือ การที่อังกฤษจะต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 มี.ค. 2562 แต่กระบวนการทางรัฐสภาของอังกฤษก็ยังคงสร้างปัญหาและความไม่แน่นอนให้กับกระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า สุดท้ายแล้ว อังกฤษอาจจะแยกตัวไม่สำเร็จ หรือ หากสำเร็จก็อาจต้องเลื่อนเวลาออกไป
 

วุ่นไม่เลิก! รัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลงเบร็กซิท เก้าอี้นายกฯ สะเทือน ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว

แม้ว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี จะไปเจรจาหารือกับกรรมาธิการยุโรปและแก้ไขข้อตกลงฉบับแรกที่ถูกสภาตีตกเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ได้สำเร็จอย่างหวุดหวิดในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งทันการเปิดประชุมสภา เพื่อลงมติพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับข้อตกลงฉบับแก้ไขนี้ในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว รัฐสภาอังกฤษก็ลงมติ "ไม่ผ่าน" ข้อตกลงเบร็กซิทฉบับแก้ไขใหม่หมาด ๆ นี้ ด้วยคะแนน 391 ต่อ 242 เป็นอันว่า ความพยายามของ นางเทเรซา เมย์ ที่จะผลักดันให้อังกฤษออกจากอียูอย่างมีข้อตกลง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การเปลี่ยนผ่านสถานะออกจากอียูจะเป็นไปอย่างราบรื่น มีขั้นตอน ลดทอนผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และคงความสัมพันธ์ที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อกันต่อไประหว่างอังกฤษและอียู เป็นอันล่มสลายในพริบตา


⁍ เก้าอี้นายกฯ สั่นคลอน

หลังจากที่ผลการลงมติของรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ออกมาดังกล่าว คำถามสำคัญ คือ จากนี้ไปอังกฤษจะต้องออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงรองรับในวันที่ 29 มี.ค. หรือ อังกฤษจะขอยืดเวลาของเบร็กซิท หรือ การออกจากอียู ออกไปก่อน เพื่อรักษาประโยชน์ของอังกฤษเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งกรณีหลังนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากอังกฤษไม่เพียงต้องขอมติจากสภาของตัวเองก่อน ว่า ต้องการเจรจาขอเลื่อนเวลาการออกจากอียู แต่ยังต้องขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอียูทุกประเทศด้วยว่า ยอมให้อังกฤษเลื่อนเวลาตามที่ต้องการหรือไม่ ทั้ง 2 คำถาม กำลังจะได้รับคำตอบในการประชุมสภาวันที่ 13 และ 14 มี.ค. นี้ ตามลำดับ นักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะคาดเดาว่าสถานการณ์จะเป็นต่อไปอย่างไร เพราะเสียงในรัฐสภานั้นแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ โดยในฝั่งที่สนับสนุนเบร็กซิทก็ยังมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับวิธีการและกำหนดเวลาของการออกจากอียู และบางส่วนก็เริ่มลังเลว่า ควรจะเดินหน้ากระบวนการเบร็กซิทต่อไปดีหรือไม่ หรือ ควรจะยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ และสำหรับเสียงที่คัดค้านการแยกตัวของอังกฤษก็สนับสนุนให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่ไปเลย เพื่อตัดสินว่า เมื่อเห็นความวุ่นวายทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นแล้ว คนอังกฤษยังอยากจะเดินหน้าแยกตัวออกจากอียูอีกหรือไม่

แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานี้ คือ เมื่อรัฐสภาลงคะแนนคว่ำข้อตกลงเบร็กซิทที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอถึง 2 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐสภาอีกต่อไป จึงควรประกาศลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ หรือ ควรยุบสภา แล้วประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทั้ง 2 อย่าง หากเกิดขึ้นก็ยังสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้มากนัก เพราะในฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเมย์เองก็ไม่มีตัวตายตัวแทน หรือ ตัวเลือกที่โดดเด่น ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าพรรคหรือนายกรัฐมนตรี

 

วุ่นไม่เลิก! รัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลงเบร็กซิท เก้าอี้นายกฯ สะเทือน ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว

⁍ อีก 2 วัน ที่ต้องลงมติชี้ชะตา

วันพุธที่ 13 มี.ค. นี้ รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดลงมติว่า จะเดินหน้าออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงมารองรับหรือไม่ บรรดาผู้สนับสนุนเบร็กซิทมองว่า อังกฤษสามารถทำเช่นนั้นได้โดยไม่ต้องกังวลใด ๆ แต่เสียงคัดค้านการออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง หรือที่เรียกว่า Hard Brexit ก็มีมากเช่นกัน เพราะมองว่า กระบวนการดังกล่าวจะสร้างหายนะให้กับเศรษฐกิจของอังกฤษ หากรัฐสภาลงมติไม่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียูโดยไร้เงื่อนไขข้อตกลง (No-deal Brexit) นั่นก็หมายความว่า ในวันที่ 14 มี.ค. รัฐสภาจะต้องลงมติว่า ต้องการให้มีการเจรจาเลื่อนกำหนดการออกจากอียูของอังกฤษ ออกไปหลังวันที่ 29 มี.ค. นี้หรือไม่

นายมิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าคณะเจรจาของอียูในกรณีเบร็กซิท ให้ความเห็นหลังทราบผลการลงมติของรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ไม่ให้การรับรองข้อตกลงที่ นางเทเรซา เมย์ นำเสนอ ว่า อียูไม่อยู่ในสถานะที่จะยอมหรือยืดหยุ่นใด ๆ ให้อังกฤษอีกแล้ว ไม่ว่ากระบวนการเบร็กซิทจะต้องถูกยืดเวลาออกไปหรือไม่ เพราะอียูได้ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้วเพื่อช่วยให้อังกฤษสามารถมีข้อตกลงมารองรับการถอนตัวออกจากอียู ในส่วนของอังกฤษนั้น สามารถยกเลิกกำหนดเส้นตายการออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. นี้ได้เอง ในกรณีเดียว คือ เมื่ออังกฤษ "ยกเลิก" การตัดสินใจที่จะออกจากอียู แต่หากยังยืนยันจะออก ก็ต้องยึดกำหนดวันนี้ไว้ หรือ หากต้องการ "เลื่อนวัน" ก็ต้องมาเจรจากับสภาอียู เพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิกอียูทุกประเทศ

ไม่ว่าอังกฤษจะเลือก "ยกเลิก" หรือ "เลื่อน" กำหนดเบร็กซิทออกไป กลุ่มผู้ที่อยากให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่ก็เริ่มมีความหวังมากขึ้นอีกครั้ง เพราะแม้ว่าการทำประชามติครั้งแรกในปี 2016 (พ.ศ. 2559) ผู้ต้องการให้อังกฤษออกจากอียู หรือ ผู้สนับสนุนเบร็กซิท จะชนะและมีสัดส่วนถึง 52% แต่ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งข้อมูลใหม่ ๆ ให้ชั่งใจเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย และความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้หลายคนเปลี่ยนใจและทำให้ผลการลงประชามติครั้งใหม่ หากมีการจัดทำขึ้นจริง ๆ พลิกผันแตกต่างไปจากครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง



⁍ ความไม่แน่นอนบั่นทอนเศรษฐกิจ

ตัวเลขเศรษฐกิจของอังกฤษที่เผยแพร่ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการเบร็กซิทส่งผลบั่นทอนเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างชัดเจน โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสล่าสุด (สิ้นสุดในเดือน ม.ค. 2562) อยู่ที่อัตราเพียง 0.2% ท่ามกลางการชะลอตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านโลหะภัณฑ์ รถยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากอียู เพื่อที่จะสามารถวางแผนธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว แต่บางส่วนก็ไม่สามารถรอได้ และตัดสินโยกย้ายการลงทุนออกจากอังกฤษไปยังประเทศอื่นแทนแล้ว นักวิเคราะห์ทางการเงิน ระบุว่า สถานะของเงินปอนด์และเศรษฐกิจของอังกฤษในภาพรวมขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็น การลาออกของนายกรัฐมนตรี หรือ การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้เลย


  วุ่นไม่เลิก! รัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลงเบร็กซิท เก้าอี้นายกฯ สะเทือน ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว