เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี

20 มี.ค. 2562 | 00:00 น.

| คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

| เรื่อง : "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี


| โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

……………….



จากประสบการณ์ของหลายประเทศ พบว่า การลดความเหลื่อมลํ้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ จะต้องสร้างให้คนจน หรือ ผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสหรือความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นด้วยตนเอง จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว การเน้นให้เงินกับคนจนเพียงอย่างเดียวไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ เพราะรัฐบาลจะสามารถจ่ายให้ได้ในจำนวนที่จำกัดและจะต้องจ่ายให้ไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายจะเผชิญกับข้อจำกัดทางการคลัง

ดังนั้น การสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุมทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับประเทศไทยแล้ว การสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถึงแม้ยังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอีกหลายเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกระบบที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

โดยประเด็นความเหลื่อมลํ้าที่ถูกกล่าวถึง ก็คือ ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ 3 ระบบ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังมีความเหลื่อมลํ้ากันมาก จะต้องพยายามทำให้เป็นระบบเดียวกัน และปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งค่อนข้างหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร เมื่อเทียบกับในต่างจังหวัด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการกระจุกตัวน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยยังคงเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งเรื่องคุณภาพการให้บริการโดยรวมและจำนวนเงินที่ใช้

เมื่อพิจารณาทางด้านการศึกษา ซึ่งมีการใช้งบประมาณค่อนข้างมากในแต่ละปี ประมาณ 20% ของงบประมาณแผ่นดิน แต่คุณภาพการศึกษาโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแย่ ทั้งนี้ เป็นผลจากความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาที่อยู่ในระดับสูง การศึกษาดัชนีคุณภาพการศึกษารายจังหวัดในประเทศไทย โดยฟรายและคณะ (2018) พบว่า จังหวัดที่มีดัชนีคุณภาพการศึกษาสูง 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ภูเก็ต สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี สงขลา เชียงใหม่ และตรัง

กล่าวโดยสรุป เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคใต้ 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด และภาคใต้ 2 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูง

ขณะที่ 10 จังหวัดที่มีคุณภาพการศึกษาตํ่า 10 อันดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู ยะลา นราธิวาส ตาก ชัยภูมิ สระแก้ว หนองคาย กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ จังหวัดเหล่านี้อยู่ในภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคใต้ 2 จังหวัด และภาคตะวันออก 1 จังหวัด และตรงกันข้ามกับจังหวัดในกลุ่มแรก จังหวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวตํ่า

 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี

 

นอกจากนี้ ข้อมูลผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ก็สะท้อนภาพเหล่านี้ชัดเจน สัดส่วนของนักเรียนในแต่ละภาคที่มีผลการทดสอบคะแนนเฉลี่ยใน 4 วิชา ในปี 2558-2559 ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนตํ่าที่สุด และภาคกลางมีสัดส่วนสูงที่สุดทั้ง 3 ระดับ คือ ประถม 6, มัธยม 3 และมัธยม 6

ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาจึงเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ และสะท้อนไม่เพียงปัญหาคุณภาพทางการศึกษา แต่ยังมีภาพสะท้อนถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา โดยมีเด็กและเยาวชนประมาณ 6.7 แสนคน ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา เป็นเด็กเล็กที่ไม่ได้เข้าเรียนอนุบาล 2.3 แสนคน เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียน หรือ ออกกลางคัน ในช่วงวัย 6-14 ปี จำนวนประมาณ 2 แสนคน และอีกประมาณ 2.4 แสนคน ไม่ได้เรียนต่อหลังจบมัธยม 3

นอกจากนี้ เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1.8 ล้านคน มาจากครอบครัวยากจน ข้อมูลที่สำรวจโดยยูเนสโก พบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแค่ประมาณ 5% เท่านั้น ขณะที่ เด็กที่มาจากครอบครัวที่รํ่ารวยที่สุด 20% ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 100%

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมลํ้าที่สามารถสืบทอดจากรุ่นพ่อ-แม่สู่รุ่นลูก เด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ยากที่จะสามารถมีโอกาสในการสร้างศักยภาพของตนเองให้ทัดเทียมเด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะดีได้

เมื่อพิจารณาความเหลื่อมลํ้าทางด้านเศรษฐกิจ การประมาณค่าดัชนีความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจมักจะใช้สัมประสิทธิ์จินี ซึ่งมีค่าระหว่าง 0-1 ถ้าค่าจินีมีค่าสูง แสดงว่า มีความเหลื่อมลํ้าสูง ถ้าค่าจินีมีค่าตํ่า แสดงว่า มีความเหลื่อมลํ้าตํ่า ในช่วงก่อนปี 2523 ค่าจินีอยู่สูงกว่า 0.4 เล็กน้อย แต่หลังจากนั้นค่าดัชนีนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีค่าถึง 0.536 ในปี 2535 และหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลง และอยู่ที่ประมาณ 0.445 ในปี 2558

 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี

 

เมื่อดูจากภาพรวมของสัมประสิทธิ์จินีในระยะยาว จะเห็นว่า ความเหลื่อมลํ้าทางด้านรายได้ดูเหมือนจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ถือว่า ประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมลํ้าทางด้านรายได้ในระดับค่อนข้างสูง

เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มรายได้ พบว่า ในปี 2558 กลุ่มที่จนที่สุด 40% เป็นเจ้าของรายได้เพียง 14.73% เท่านั้น ขณะที่ 10% ที่รวยที่สุด เป็นเจ้าของรายได้ถึง 34.84% และเมื่อเทียบสัดส่วนกลุ่ม 10% ที่รวยที่สุดต่อ 10% ที่จนที่สุด พบว่า อยู่ที่ประมาณ 16.92%

อย่างไรก็ตาม การคำนวณเหล่านี้ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลมักจะเข้าไม่ถึงครัวเรือนที่มีฐานะรํ่ารวย ดังนั้น ข้อมูลของครัวเรือนที่รํ่ารวยจึงเป็นตัวเลขที่ตํ่ากว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความเหลื่อมลํ้าที่เกิดขึ้นจริงจึงสูงกว่าตัวเลขที่ปรากฏค่อนข้างมาก

งานศึกษาของ "ดวงมณี เลาวกุล" ในหลายเรื่องและหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อม ลํ้าพบว่า ความเหลื่อมลํ้าในการถือครองทรัพย์สินสุทธิของครัวเรือน มีค่าสัมประสิทธิ์จินีอยู่ที่ประมาณ 0.688 ในปี 2552 โดยพบว่า ครัวเรือนที่มีฐานะรํ่ารวย 20% ถือครองทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 50% ของทรัพย์สินสุทธิทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด โดยใช้ข้อมูลในปี 2555 ค่าจินีอยู่ที่ 0.89 โดยที่ผู้ถือครองที่ดิน 1% ถือครองที่ดินถึง 25% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด

เพื่อที่จะเจาะลึกต่อไปว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา กลุ่มไหนที่ดีขึ้นบ้างและกลุ่มไหนที่แย่ลง งานศึกษาบางชิ้นพบว่า กลุ่มที่มีรายได้น้อย 50% และกลุ่มที่รวยที่สุด 0.001% มีการเติบโตของรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่ กลุ่มชนชั้นกลางมีการเติบโตของรายได้ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย ในช่วงปี 2001-2016 และมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่บ่งชี้ถึงปัญหาความเหลื่อมลํ้ากับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยพบว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีความพยายามและแนวโน้มที่จะให้ความสนใจในการแก้ปัญหาและเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มคนยากจน 40% ของประเทศ และนั่นเป็นเหตุให้ค่าสัมประสิทธิ์จินี มีแนวโน้มลดลง หลังปี 2535 แม้ว่าจะยังลดลงไม่มากนักก็ตาม

ในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มีการแข่งขันกัน นำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างการคุ้มครองทางสังคมกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ดีในการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า แต่ประสบการณ์ของหลายประเทศก็ได้แสดงให้เห็นว่า การแจกเงินให้กับกลุ่มคนจนเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอและยั่งยืน สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปเสมอ ก็คือ การสร้างระบบที่จะมีการพัฒนาศักยภาพของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ยั่งยืน



……………….

คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,454 วันที่ 21 - 23 มี.ค. 2562 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | จับเท็จ 'นักเลือกตั้ง'
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย 'กิ่งทองใบหยก'

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "ความเหลื่อมล้ำ" จะแก้กันอย่างไรดี