ธ.ก.ส.เผยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 7 แสนล้านบาท

20 มี.ค. 2562 | 10:38 น.

ธ.ก.ส.เผย หนุนสินเชื่อให้ภาคเกษตร ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 6.59 หมื่นล้านบาท พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรณ 48 โครงการ เป็นเงิน 2.47 แสนล้านบาท  พักชำระหนี้ 8.89 แสนล้านบาท  

                นายอภิรมย์  สุขประเสริฐ  ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานธ.ก.ส.ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้สนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรรวม 65,931 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน 149,949 ราย จำนวนเงิน 2,025 ล้านบาท ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย 4,092,247 ราย จำนวนเงิน 56,344 ล้านบาท และโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 868,618 ราย จำนวนเงิน 7,562 ล้านบาท

ธ.ก.ส.เผยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 7 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 48 โครงการ เป็นเงิน 247,840 ล้านบาท มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระต้นเงินเป็นเวลา 3 ปีให้กับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางประชารัฐ 2.91 ล้านราย มูลหนี้ 889,816 ล้านบาท มาตรการเกษตรประชารัฐลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผ่านบัตรเกษตรสุขใจ 629,774 ราย วงเงิน 14,300 ล้านบาท และพัฒนาผู้ประกอบการ SME เกษตร 9,600 ราย สนับสนุนสินเชื่อ SMAEs ไปแล้ว 336,034 ราย วงเงิน 135,696 ล้านบาท และได้ช่วยเหลือด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 300,000 ราย

ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนนโยบายสังคมไร้เงินสด(Cashless Society) โดยพัฒนา ธ.ก.ส. A-Mobile ซึ่งมีเกษตรกรดาวน์โหลดแล้วกว่า 600,000 ราย ปริมาณธุรกรรมมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 1 ล้านรายการต่อเดือน มีร้านค้า QR Code รองรับกว่า 17,000 ร้านค้า และยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำบัตร Smart Card สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า 1 ล้านใบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment

ธ.ก.ส.เผยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 7 แสนล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติการสร้างความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือ มาตรการพัฒนาตนเอง โดยการให้ความรู้ทางด้านการเงิน/การผลิต/การตลาด 2.76 ล้านราย มาตรการลดภาระหนี้สินนอกระบบ 217,852 ราย เป็นเงิน 13,563.11 ล้านบาท กรณีที่มีหนี้ที่เป็นภาระหนักธ.ก.ส. ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว  661,022 ราย มูลหนี้ 129,324 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ สามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี พ้นเส้นความยากจนกว่า 8 แสนราย คิดเป็น 51%  และมีรายได้เพิ่มเกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี จำนวน 29,911 ราย คิดเป็น 1% ของผู้เข้าร่วมโครงการ

ธ.ก.ส.เผยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 7 แสนล้านบาท

ด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน ธ.ก.ส.อำนวยสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรายย่อยไปแล้วกว่า 6.24 แสนล้านบาท และด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตผ่านโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ประกันภัยข้าวนาปี  1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.96 ล้านไร่ และได้ขยายผลไปยังพืชอื่นๆ คือ ข้าวโพด 82,087 ราย พื้นที่ 717,541 ไร่ โคนม 4 ชุมชน จำนวน 156 ตัว และลำไย 1,052 ราย