คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายไทย-อินเดีย

27 มี.ค. 2562 | 07:30 น.

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่มีความสำคัญที่สุดและถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์การ เมืองไทย ในห้วงเวลาที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เราได้เห็นการประกาศนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง แต่นโยบายด้านหนึ่งซึ่งแทบจะไม่ได้มีการกล่าวถึง ไม่มีการนำเสนอและไม่ได้มีการดีเบตถกเถียงเลย ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน นั่นคือ นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีโลก

ดังนั้นในระหว่างรอผลการจัดตั้งรัฐบาล ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านอาณาบริเวณศึกษา ขอตั้งคำถามและให้ข้อเสนอแนะ โดยเริ่มจากประเทศที่เปรียบเสมือนอนุภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับไทยทั้งในทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกันทางทะเล มิติทางสังคม-ภาษา-วัฒนธรรม และเต็มไปด้วยโอกาสทางการค้าและการลงทุน นั่นคือ ประเทศอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ อันเกิดจากประชากรขนาด 1.4 พันล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมสูงมากกว่า 2.848 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2018 หรือเทียบเท่ากับเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5-8% ต่อปี แค่จำนวนคนรวย-รวยมากที่สุดในประเทศอินเดียก็มีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาแล้ว (ประมาณ 328 ล้านคน)

คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายไทย-อินเดีย

โดยปัจจุบันหากพิจารณาจากมูลค่า GDP PPP ที่มีการปรับผลของความแตกต่างของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อแล้ว อินเดียถือเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และยังมีการคาดการณ์จากหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น Economic Intelligence Unit แห่ง The Economist และ PWC: Price Waterhouse Coopers ที่ต่างเห็นตรงการว่าในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน และแนวโน้มที่เห็นชัดเจนอย่างต่อเนื่องก็คือภาคเอกชนไทย ต่างก็ให้ความสนใจและต้องการออกไปทำการค้าและการลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดีย เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งหลังจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในห้วงเวลาของสงครามเย็น อดีตนายกรัฐมนตรี Rajiv Gandhi เป็นนายกฯอินเดียคนแรกที่เดินทางเยือนไทยในปี 1986 พร้อมกับแนวคิดที่จะปูทางไปสู่นโยบาย มองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายของรัฐไทยในขณะนั้นภายใต้การนำของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนโยบายหลักคือ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy)

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายต่างๆ ระหว่างไทยกับอินเดียมิติเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมมากนัก จนกระทั่งฝ่ายไทยริเริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียในปี 2001 แม้ว่าจะมีการเริ่มต้นบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ในสินค้าที่จะไม่มีการจัดเก็บภาษีระหว่างกันเพียง 82 รายการสินค้า (ภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น 83 รายการสินค้า) ในปี 2006 แต่จนถึงปัจจุบันการหาข้อสรุปการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ 

คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายไทย-อินเดีย

ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ที่เริ่มต้นในปี 2003 ดูจะมีความคืบหน้ามาก กว่า โดยสามารถหาข้อสรุปได้ในปี 2009 และเริ่มต้นบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2010 ซึ่งในทั้ง 2 ข้อตกลง ประเทศไทยล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับประเทศที่เป็นเจ้าของตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในมิติประชากรด้วยกันทั้ง 2 กรอบข้อตกลง

ในปี 2019 ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโดยตรงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ภารกิจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือการเจรจาเพื่อให้ฝ่ายอินเดียยอมเข้าร่วมและหาข้อสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ นั่นคือ ข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ อาเซียน+6 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มูลค่า GDP รวมกันของ RCEP จะมีมูลค่าราว 49.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (GDP, PPP) หรือเทียบเท่ากับ 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจรวมของทั้งโลก 

แน่นอนว่า การหาข้อสรุปการเจรจาซึ่งจะนำไปสู่การบังคับใช้ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อยืนยันว่า ไทย อาเซียน และคู่เจรจายังคงยืนยันในการเป็นจุด ศูนย์กลางห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) และสนับสนุนแนวคิดเรื่องการค้าเสรีที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบทางลบไปทั่วโลก

ปัจจัยที่ต้องจับตามองอีกประเด็นของอินเดียคือ อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งน่าจะเริ่มต้นรู้ผลคะแนนการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2019 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่าง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน Mr.Narendra Modi แห่งพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) กับรุ่นที่ 4 ของตระกูล Nehru/Gandhi นั่นคือ Mr.Rahul Gandhi แห่งพรรค IndianNational Congress (INC) แม้ว่า Modi แห่ง BJP จะมีนโยบายค่อนไปในทางชาตินิยมและมี แนวนโยบายในรูปแบบของการปกป้องทางการค้า ซึ่งต่างจากฝ่ายของ INC ซึ่งจะมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า 

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่คณะทำงานทั้งของไทย และอาเซียนที่ทำงานกับทีมของฝ่าย BJP มาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็เชื่อว่าความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และสายสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้การเจรจาการค้ากับอินเดียไม่ว่าจะเป็นในกรอบ ASEAN-India, Thai-India และ RCEP น่าจะมีความคืบหน้า 

ในขณะที่ Team Thailand ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นท่านเอกอัครราชทูต ทีมของกระทรวงการต่างประเทศ และทีม ของกระทรวพาณิชย์เองก็ทำงานมานานจนมีความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในเรื่อง ของการเจรจา การค้า การลงทุน ตลอดจนวิธีคิดของฝ่ายอินเดีย

เชื่อว่าหากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางบวกกับฝ่ายอินเดีย มหาอำนาจแห่งมหาสมุทรอินเดีย เพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทย เราน่าจะเห็นและได้ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3456 ระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2562

คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายไทย-อินเดีย