‘Test and Learn’ หัวใจการบริหาร ‘Digital Transformation’

29 มี.ค. 2562 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2562 | 12:32 น.

Digital Transformation’ คำนี้ อาจจะฟังดูเฟ้อในยุคปัจจุบัน แต่หากถอยหลังไปสัก 1-2 ปีคนที่เขามาเริ่มต้นทำงานในการฟอร์มทีมเกี่ยวกับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ขององค์กรขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มเอสซีจี ก็ไม่น่าจะธรรมดานัก เพราะต้องคลำหาทางที่จะเดินไปด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่มีใครทำมาก่อน จึงไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็นแบบอย่างได้ 

“ดร.จาชชัว แพส” กรรมการผู้จัดการ AddVentures ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาฟอร์มทีม เขาบอกเลยว่า ช่วงนั้นคำที่ใช้มากๆ เลย คือ test and learn ทุกอย่างที่ทำ เป็นการทดลอง (experiment) และการเรียนรู้ทั้งหมด มันคือ การ Lean Startup เหมือนการทำงานของสตาร์ตอัพที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้จะได้รับ และมุ่งเน้นการลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญหรือสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ออกไป การสร้างผลิตภัณฑ์ในแบบของลีนสตาร์ต อัพนั้นจะเริ่มจากการทำความเข้าใจ insight ของผู้บริโภคก่อน 

‘Test and Learn’ หัวใจการบริหาร ‘Digital Transformation’

“ตอนที่เริ่มทำ เราได้โจทย์มาก็คิดพอได้ แต่ก็ต้องการความช่วยหลือ จึงเลือก “อินโน ไซด์” ที่บอสตัน เข้ามาช่วยคิด เขาก็มาช่วยอยู่ 3 เดือน หลังจากนั้น เราก็เริ่มมีความรู้มากขึ้น ก็เริ่มเดินต่อได้”  

จากแบ็กกราวด์ที่จบมาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมอุตสาหการ เคยทำงานกับองค์กรชั้นนำอย่างอินเทล ด้านกลยุทธ์การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Strategy) จนกระทั่งย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทย และได้เข้าทำงานที่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) พอได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน รวมไปถึง คอร์ปอเรต เทคโนโลยี จึงถือเป็นความท้าทายที่สอดรับกับแบ็กกราวด์ของ “จาชชัว” เป็นอย่างดี เพราะมันคือการต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้นกับองค์กรและลูกค้า มันคือ  “Business Model Innovation” 

ผู้บริหารหนุ่ม อธิบายเส้นทางการทำงานของ การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ว่าแบ่งส่วนที่รับผิดชอบเป็น 3 ส่วน คือ ADD Ventures, Internal Startup หรือ Zero to One และ Data Analytics ส่วนของ ADD Ventures คือ ส่วนของกองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพ (CVC : Corporate Venture Capital) เป็นการเชื่อมต่อระหว่างสตาร์ตอัพ กับเอสซีจี คัดเลือกนิวเทคโนโลยีเข้ามาผสานให้เกิดประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ลงทุนไปแล้ว 11 ราย และมีกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of funds) 2 ราย คือ  Wavemaker และ Vertex Ventures ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่น่าสนใจ มีศักยภาพพัฒนาต่อในอนาคต และสอดคล้องกับธุรกิจในเครือเอสซีจี 

วิธีการของ ADD Ventures คือ การมองหาโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจ และ การลงทุน และในอีกรูปแบบที่เขานำมาใช้ก็คือ การทำพันธมิตรทางการค้า (commercial partnership) โดยดูจาก Pain Point ภายในแผนกต่างๆ แล้วไปหาดูว่าสตาร์ตอัพไหนที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้ หลังจากนั้น ก็มีพูดคุยกันว่า สามารถทำอะไรร่วมกันได้บ้าง หรือลองซื้อบริการของเขามาใช้ดู โดยไม่จำเป็นต้องลงทุน

อีกส่วนหนึ่งของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่เดินหน้าไปก็คือ การสร้าง Internal Startup ผ่านโปรแกรม Hatch> Walk> Fly ส่วนนี้ทำมาแล้วกว่า 2 ปีในส่วนของ Hatch เป็นส่วนของพนักงานที่มีไอเดีย มีสมัครเข้ามา 185 ทีม เลือกเข้ามา 50 ทีม ส่วนของ Walk มี 14 ทีม ตรงนี้จะเหมือนสตาร์ตอัพ ที่กำลังเริ่มผลิตโปรดักต์ของตัวเองได้แล้ว และหากมีอะไรติดขัด ต้องการความรู้เพิ่มเติม ก็จะเชื่อมต่อองค์ความรู้ เพื่อแก้ Pain Point ต่างๆ ให้สามารถเดินต่อได้ ส่วนของ Fly คือ ทีมที่เริ่มขยายผล เกิดเป็นธุรกิจเต็มตัว ซึ่งเริ่มมีบ้างแล้ว 

“จาชชัว” บอกว่า การทำงานตรงนี้ สิ่งที่ท้าทาย คือ การทำงานทั้ง 3 ส่วนให้ได้ดีที่สุด ซึ่งทุกๆ ส่วนมีความยากพอๆ กัน  ADD Ventures ยากตรงที่งานเยอะ ชั่วโมงการทำงานเยอะ และต้องเดินทางบ่อยมาก เพื่อเชื่อมต่อกับสตาร์ตอัพต่างๆ ส่วนฝั่งของ ซีโร่ ทู วัน ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ มันก็มีความเยอะ มีความยากอีกแบบ โดยทั้ง 2 ส่วนคือ การสร้างนิวบิสิเนส และส่วนของ ดาต้า อะนาลิติก ก็ต้องนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ 

หน้าที่การทำงานของ “จาชชัว” และทีม คือ การไปคุยกับคนในหลายๆ อีโคซิสเต็ม ไปคุยกับหลายๆ ฝ่าย ถ้าเมื่อไรติดขัด ไม่รุู้เรื่อง ก็ต้องไปเติมความรู้ หาอะไรเรียนเพิ่ม ซึ่งหลายๆ อย่างเรียนออนไลน์ฟรีได้ หรือถ้าได้รับการมอบหมายงานใหม่ๆ เข้ามา ก็ไปเรียนเพิ่ม ทุกคนในทีมก็ทำแบบนี้ ถ้าเราไม่รู้อะไรเราก็ต้องเรียนรู้”  

“ทักษะที่ใช้กับงานตรงนี้ มันเป็นการผสมผสาน เป็น combination ทั้งเรื่องของ ธุรกิจ เทคโนโลยี และคน ต้องเอาหลายๆ ส่วนมารวมกัน ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพื่อเดินสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ADD Ventures ต้องมีบิ๊กแบงก์ในการลงทุน ต้องบิสิเนสของสตาร์ตอัพและเอสซีจีได้จริงๆ ส่วนของ ซีโร่ทูวัน คือ ทำให้เขาบินได้ และงานของคอร์ปอเรต เทคโนโลยี ก็คือ การเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายใหม่ของผม”

ทั้งหมดนั่นคือ เส้นทางที่ “จาชชัว แพส” วางแผนและกำหนดเส้นทางเดินของ Digital Transformation ร่วมกับทีมบริหารของเอสซีจี เพื่อเดินทางสู่เป้าหมายสูงสุด กับการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ให้เป็นจริง

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,456 วันที่  28 - 30  มีนาคม พ.ศ. 2562

‘Test and Learn’ หัวใจการบริหาร ‘Digital Transformation’