ชาวญี่ปุ่นแห่ซื้อของที่ระลึก อำลาเดือนสุดท้ายแห่งรัชสมัย 'เฮเซ'

01 เม.ย. 2562 | 10:04 น.


รัชสมัย 'เฮเซ' (Heisei) หรือ ช่วงเวลา 30 ปี แห่งการครองราชย์ของ "สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ" แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. ที่จะถึงนี้ อันเป็นวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และรุ่งขึ้นเมื่อ "เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ" องค์รัชทายาทขึ้นครองบัลลังก์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ในวันที่ 1 พ.ค. ญี่ปุ่นก็จะเริ่มรัชสมัยใหม่ที่มีชื่อว่า 'เรวะ' หมายถึง รัชสมัยแห่งสันติภาพอันดีงาม

 

ภาพอดีตในปี 1989 เมื่อครั้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในสมัยนั้นชูป้ายประกาศชื่อรัชสมัย "เฮเซ" และเป็นวันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ

 

สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า เหลือเวลาอีก 30 วัน ก่อนที่รัชสมัยเฮเซจะสิ้นสุดลง ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากพากันหลั่งไหลไปซื้อของที่ระลึก รวมทั้งการท่องเที่ยวไปถ่ายภาพกับสถานที่ที่มีชื่อเขียนด้วยตัวอักษรจีน (อักษรคันจิ) เหมือนกับชื่อรัชสมัย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า บรรยากาศโดยรวมของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ แตกต่างกับภาพอดีตเมื่อครั้งรัชสมัย 'โชวะ' (สมัยการครองราชย์ของ "สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ" ระหว่างปี ค.ศ.1926-1989) กำลังจะสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิง เพราะครั้งนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะทรงประชวรและเสด็จสวรรคตด้วยโรคมะเร็ง ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าสลด แต่ครั้งนี้เป็นการผลัดแผ่นดินที่เกิดจากการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ โดยการตัดสินใจของพระองค์เอง ในขณะที่ยังทรงแข็งแรง ในพระชนมายุ 85 พรรษา ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบ 200 ปีของญี่ปุ่น ที่สละราชสมบัติขณะยังทรงพระชนม์ชีพ

 

ชาวญี่ปุ่นแห่ซื้อของที่ระลึก อำลาเดือนสุดท้ายแห่งรัชสมัย 'เฮเซ'

 

ของที่ระลึกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งมีจำหน่ายที่หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น (The National Archives of Japan) ในกรุงโตเกียว คือ ซองพลาสติกที่ด้านหน้าเขียนอักษร 'เฮเซ' นับตั้งแต่เปิดขายเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ทำยอดขายไปแล้ว 25,000 ชิ้น นอกนั้นก็เป็นสินค้าที่ระลึก ที่มีอักษรคำว่า 'เฮเซ' เขียนอยู่ ผู้ซื้อส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า ต้องการระลึกถึงวันที่รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นได้ประกาศการขึ้นรัชสมัยใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขณะที่ บางคนก็บอกว่า ต้องการซื้อไว้เป็นที่ระลึกว่าตนเกิดในรัชสมัยนี้

บางสถานที่ที่มีชื่อพ้อง หรือ เขียนด้วยตัวอักษรเดียวกันกับชื่อรัชสมัย 'เฮเซ' ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ เช่น สถานีรถไฟเฮเซใน จ.คุมาโมโตะ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ที่ผู้คนหลั่งไหลมาถ่ายรูปเพื่ออัพภาพขึ้นอินสตาแกรมและทวิตเตอร์

ด้านบริษัทจัดโปรแกรมท่องเที่ยว เช่น บริษัท นิปปอน ทราเวิล เอเจนซี มีแผนจัดท่องเที่ยวด้วยรถไฟความเร็วสูง "ชินกันเซ็น" ระหว่างเมืองโอซากาและกิวชู โดยจัดเที่ยวไปในวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของรัชสมัยเฮเซ และจัดเที่ยวกลับในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของรัชสมัยเรวะ ความพิเศษอยู่บนตั๋วโดยสารที่เที่ยวไปและกลับมีชื่อรัชสมัยที่แตกต่างกัน

 

ผู้ตอบคำถาม 70% ลงคะแนนให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตามมาด้วยสึนามิในเดือนมีนาคม 2011 (พ.ศ. 2554)เป็นเหตุการณ์อันดับ1 ในความทรงจำแห่งรัชสมัยเฮเซ

 

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวญี่ปุ่น จัดทำโดย สำนักข่าวเกียวโด ระหว่างวันที่ 6 ก.พ. - 14 มี.ค. 2562 โดยสุ่มสำรวจประชาชน 3,000 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า กว่า 70% ของผู้ที่ตอบกลับการสำรวจ (1,930 คน) มีความเห็นว่า ยุครัชสมัยเฮเซนั้น เป็นรัชสมัยที่ดี หรือ ค่อนข้างดี และเมื่อเจาะกลุ่มไปที่ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่ใหญ่ที่สุดในการสำรวจ พบว่า 29% ของกลุ่มนี้ มองว่า รัชสมัยเฮเซเป็นช่วงเวลาที่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาเกิดไม่ทันยุคสมัยที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูมากกว่านี้ ต่างจากความเห็นของกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีเพียง 10% เท่านั้น ที่มองรัชสมัยเฮเซในเชิงบวก

แม้ว่ารัชสมัยเฮเซจะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวน้อยมาก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นระยะเวลายาวนาน มีภัยธรรมชาติครั้งสำคัญ ๆ รวมทั้งภัยก่อการร้าย แต่โดยภาพรวมแล้วก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีในสายตาของผู้คนทั่วไป และเมื่อถามถึงเหตุการณ์ใดที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในรัชสมัยนี้ ผู้ตอบคำถาม 70% ลงคะแนนให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตามมาด้วยสึนามิในเดือน มี.ค. 2011 (พ.ศ. 2554) ซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าในเมืองฟุกุชิมะ เป็นเหตุการณ์อันดับ 1 ในความทรงจำ ขณะที่ เหตุการณ์ในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ อันดับ 1 ในความทรงจำ คือ เหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจี้บังคับเครื่องบินโดยสารไปชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 ก.ย. 2001 ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญของญี่ปุ่นเองในรัชสมัยนี้ ก็คือ ความนิยมใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย และโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่น ส่วนเพลงอันดับ 1 ในดวงใจของยุคสมัยเฮเซ คือ เพลง "Sekai ni Hitotsu Dake no Hana" (The Only Flower in the World) ของวงบอยแบนด์ SMAP ซึ่งยุบวงไปแล้วในช่วงปลายปี 2016

 

นายจุนนิชิโระ โคอิสุมิ คือนายกรัฐมนตรีอันดับ1 ในดวงใจ

 

และสำหรับคำถามที่ว่า ใครคือ นายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ในดวงใจคนญี่ปุ่น ในระหว่างช่วง 30 ปีแห่งรัชสมัยเฮเซ ผู้ที่ได้คะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 (77%) คือ นายจุนนิชิโระ โคอิสุมิ นายกรัฐมนตรีที่มีสไตล์ทรงผมและการแต่งตัวที่โดดเด่นไม่เหมือนใครแห่งพรรคแอลดีพี ตามมาด้วย นายชินโสะ อาเบะ 38% และนายโนโบรุ ทาเคชิตะ 22%

 

ชาวญี่ปุ่นแห่ซื้อของที่ระลึก อำลาเดือนสุดท้ายแห่งรัชสมัย 'เฮเซ'