"5 บิ๊กการเงิน" มองอนาคต "เบร็กซิท"

04 เม.ย. 2562 | 00:42 น.


... อนาคตของอังกฤษกับกระบวนการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา ภาพที่เห็น คือ ความชุลมุนวุ่นวายในกระบวนการทางรัฐสภาและรัฐบาลที่ยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ กำหนดเส้นตาย (ของการถอนตัว) ใกล้เข้ามาทุกที และทางเลือกก็เหลือน้อยเต็มทีเช่นกัน นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกมาพูดแล้วว่า จะพยายามไปเจรจาขอเวลาเพิ่มจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ขยับเลื่อนกำหนดเส้นตาย ในวันที่ 12 เม.ย. ศกนี้ออกไปอีก เพื่อใช้เวลาต่อลมหายใจที่ได้มาในการไปเจรจาต่อรองกับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อร่วมกันหาวิธีออกจากอียูอย่างมีข้อตกลงมารองรับ

 

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี เหลือทั้งเวลาและทางเลือกน้อยลงทุกที

 

สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษนั้น ลงมติคว่ำข้อตกลงการแยกตัว หรือ Withdrawal Agreement ที่ นางเทเรซา เมย์ ไปเจรจาไว้กับอียูตั้งแต่ฉบับดั้งเดิมจนถึงฉบับปรับปรุงใหม่ ถึง 3 ครั้งด้วยกันแล้ว มีการพูดถึงการยื่นให้สภาพิจารณาเป็นครั้งที่ 4 ภายในเวลาไม่กี่วันที่เหลืออยู่ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่าวิธีนี้จะสำเร็จ ส่วนฝ่ายที่คิดว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศแบบสายฟ้าแลบในเร็ววันนี้อาจทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล มีคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น เพื่อมาเข็นข้อตกลงเบร็กซิทผ่านสภาให้สำเร็จ ก็มีแนวโน้มจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะความแตกแยกภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน สมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยและไม่ให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อย และทำให้การผลักดันข้อตกลงเบร็กซิทผ่านสภาเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับนางเมย์มาจนทุกวันนี้

ในขณะที่ ความขมุกขมัวยังครอบงำกระบวนการเบร็กซิทและทำให้เกิดบรรยากาศลุ้นระทึกกันวันต่อวัน 5 สถาบันการเงิน และธนาคารรายใหญ่ระดับแนวหน้าของโลก คือ โกลด์แมน แซคส์, เจพี มอร์แกน, ซิตี้, ดอยช์แบงก์ และยูบีเอส ได้วิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มความเป็นไปของเบร็กซิทเอาไว้ ดังนี้ โดยส่วนใหญ่มองว่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อังกฤษจะต้องประกาศเลือกตั้งแบบปุบปับฉับพลัน แต่นั่นก็ยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะช่วยให้กระบวนการเบร็กซิทเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น


กลด์แมน แซคส์

บทวิเคราะห์ของ "โกลด์แมน แซคส์" ระบุว่า นับตั้งแต่ที่ชาวอังกฤษลงประชามติ เมื่อปี 2559 ว่า ต้องการแยกตัวออกจากอียู อังกฤษก็ต้องพบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นอัตราเฉลี่ยสัปดาห์ละ 600 ล้านปอนด์ (ประมาณ 783 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ฉุดให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงไปประมาณ 2.5% นับตั้งแต่ช่วงเวลานั้น "ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอนาคตความสัมพันธ์ของอังกฤษกับอียู ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการเมือง หรือ ทางเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ และยังส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ อีกด้วย"

 

"5 บิ๊กการเงิน" มองอนาคต "เบร็กซิท"

 

โกลด์แมน แซคส์ พยากรณ์ว่า มีโอกาสความเป็นไปได้ 15% ที่อังกฤษจะต้องออกจากอียูอย่างไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit) และหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลฉุดให้ค่าเงินปอนด์อ่อนลงได้ถึง 17% อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเป็นไปได้ราว 35% ที่สุดท้ายแล้ว เบร็กซิทจะไม่เกิดขึ้น (อังกฤษจะไม่แยกตัวออกจากอียู)


เจพี มอร์แกน

ภาวะไร้สมรรถนะของสภาผู้แทนฯอังกฤษในการที่จะขับเคลื่อนกระบวนการเบร็กซิทไปข้างหน้าด้วยความชัดเจน ทำให้ นางเทเรซา เมย์ เหลือทางเลือกน้อยมากในการหันกลับไปพึ่งพากลไกทางรัฐสภา เพื่อนำเสนอข้อตกลงเบร็กซิทของเธอเป็นครั้งที่ 4 "เจพี มอร์แกน" คาดการณ์ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงวาระที่สภาฯ ของอังกฤษพยายามแสวงหาทางเลือกใหม่ที่จะออกมาเป็นเบร็กซิทที่ยังคงความสัมพันธ์กับอียูเอาไว้มากในระดับหนึ่ง (Softer Brexit) สิ่งที่ทางธนาคาร "เจพี มอร์แกน" เห็นว่า มีโอกาสความเป็นไปได้มากที่สุด (30%) คือ การประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนโอกาสที่ข้อตกลงของนางเมย์จะผ่านสภาและโอกาสที่อังกฤษจะขอเลื่อนเวลาการถอนตัวจากอียูออกไปอีกนั้น ความเป็นไปได้อยู่ที่ประมาณ 20%

สิ่งที่ "เจพี มอร์แกน" เห็นว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด หรือ ประมาณ 15% เท่านั้น คือ การจัดทำประชามติเป็นครั้งที่ 2 (ว่าจะออกหรือไม่ออกจากอียู) และการออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit)

 

"5 บิ๊กการเงิน" มองอนาคต "เบร็กซิท"

 

ซิตี้

ธนาคารซิตี้ไม่ได้ชี้ลงไปชัด ๆ ว่า เบร็กซิทจะออกมาในรูปแบบไหน หรือ ความเป็นไปได้จะเป็นทิศทางใด แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นแกนนำรัฐบาลนั้น ดูจะกำลังทำให้อังกฤษเข้าใกล้การออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงมากขึ้นทุกที มีรายงานข่าวว่า สมาชิกพรรคราว 200 คน ได้ร่วมลงรายชื่อในหนังสือ ยื่นต่อ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ขอให้อังกฤษออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงชนิดที่ยังสามารถควบคุมและบริหารจัดการตัวเองได้ หรือที่เรียกว่า managed no-deal Brexit อย่างไรก็ตาม ธนาคารซิตี้คาดการณ์ว่า รัฐบาลอังกฤษสามารถจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้

ในส่วนของการเลือกตั้งทั่วไป ธนาคารระบุว่า วิธีนี้ไม่น่าจะช่วยอะไร มีแต่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น และอาจจะทำให้พรรคการเมืองที่ต้องการแยกตัวมีเสียงสนับสนุนมากขึ้น เช่น พรรคเอสเอ็นพี (Scottish National Party) และในกรณีที่นางเมย์จะนำข้อตกลงของเธอกลับมาให้สภาฯ พิจารณารับรองเป็นครั้งที่ 4 นั้น ธนาคารซิตี้เชื่อว่า สภาจะลงมติคว่ำข้อตกลงอีกครั้ง


ดอยช์แบงก์

'ดอยช์แบงก์' ธนาคารใหญ่ของเยอรมนี วิเคราะห์ว่า โอกาสที่อังกฤษจะต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง ในวันที่ 12 เม.ย. นี้ มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ต่อ 4 หรือ 25% จากเดิมที่คาดว่า ความเป็นไปได้มีอยู่ 20% และสถานการณ์ความอึมครึมสับสนที่กำลังเป็นอยู่นี้ก็ส่งผลกดดันค่าเงินปอนด์ของอังกฤษให้ตกดิ่งลง โดยต้นสัปดาห์นี้ (1 เม.ย.) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 85.61 เพนซ์/ยูโร แต่ดอยช์แบงก์คาดว่า น่าจะอ่อนลงมาอีกเป็น 90 เพนซ์/ยูโร

 

"5 บิ๊กการเงิน" มองอนาคต "เบร็กซิท"

 

สถานการณ์ที่ดอยช์แบงก์คาดว่ามีความเป็นไปได้ 30% คือ มติใด ๆ ก็ตาม ที่สุดท้ายแล้วสภาฯ ให้การรับรองออกมา รัฐบาลจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้และสุดท้ายก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แต่ก็ไม่ควรมองทางบวก หรือ ตั้งความหวังกับการเลือกตั้งดังกล่าวมากนัก ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะว่าฝ่ายนิยมซ้าย หรือ พรรคแรงงาน ที่เป็นฝ่ายค้าน อาจจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่เพราะเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะออกมาไม่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งในปี 2017 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะทางตันในรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้


ยูบีเอส

ด้าน ธนาคารยูบีเอส จากสวิตเซอร์แลนด์ วิเคราะห์ว่า อังกฤษได้เดินมาถึงจุดที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะต้องประกาศเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนด (ปกติจะมีการเลือกตั้งทั่วไปทุกรอบ 5 ปี นอกเสียจากว่าจะมีการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือ 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาลงมติให้มีการจัดเลือกตั้ง) ยูบีเอสคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่สภาฯ จะลงมติให้มีการจัดเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล จะวางเดิมพันกับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหวังว่า ทางพรรคจะได้คะแนนสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น และหากผลออกมาเป็นเช่นนั้น นางเทเรซา เมย์ ก็อาจจะมีพลังสนับสนุนให้ผลักดันข้อตกลงเบร็กซิทผ่านสภาได้ในที่สุด