ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

04 เม.ย. 2562 | 09:06 น.

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

 

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


... ราคาผลปาล์มสดทั้งทลาย ณ เดือน มี.ค. 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.36 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) (ข้อมูลจากกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1 กรมการค้าภายใน) ซึ่งถือได้ว่า ต่ำสุดในรอบ 8 ปี (นับจากปี 2554) ที่ราคาเคยขึ้นไปอยู่ที่ 6 บาทต่อ กก. และหากมองย้อนกลับไปอีกสัก 20 ปี (2541) ก็พบว่า ราคาผลปาล์มสดเผชิญกับความผันผวนมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการสต๊อกของประเทศ ถ้าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ระหว่าง 150,000 - 200,000 ตัน ราคาผลปาล์มจะขึ้นไปมากกว่า 3 บาทต่อ กก. และถ้าสต๊อกเพิ่มหรือลดลง 1% จะทำให้ราคา FFB (ราคาปาล์มน้ำมันทั้งทลาย) ลดลงหรือเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งวิ่งสวนทางกัน

หนึ่งทางออกของสินค้าเกษตรไทย ก็คือ การแปรรูป อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยก็เช่นกัน ต้องการการผลักดันให้มีการแปรรูป ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลเป็นอีกทางรอดของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย

 

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

 

คำว่า "ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัล" หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่า เป็นผลิตภัณฑ์อะไร "สบู่" ถือได้ว่า เป็น "ต้นแบบ" ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลชนิดแรกของโลก ที่มาตั้งแต่สมัยก่อน (เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว โดยทำมาจากไขมันแพะ) จนปัจจุบัน มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน ยา และพลาสติก เป็นต้น

 

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

 

ผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ผลิตภัณฑ์อาหารสัดส่วน 80% โอเลโอเคมีคัล 15% ไบโอดีเซล 2% และที่เหลือเป็นพลังงานชีวภาพ (Biomass) ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของโอเลโอเคมีคัลด้วย ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลสามารถทำได้จาก 3 แหล่ง คือ น้ำมันปิโตรเลียม พืชน้ำมัน และไขมัน ถ้าทำมาจากปิโตรเลียม เรียกว่า "โอเลโอเคมีคัลสังเคราะห์" และมาจากพืชและสัตว์ เรียกว่า "โอเลโอเคมีคัลธรรมชาติ"
 


ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลมีหลากหลายมากขึ้น หลัก ๆ มี 4 ประเภท คือ สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (Personal Care) อาหารและยา เครื่องสำอาง และสารทำความสะอาด ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องใช้วัตถุดิบที่สกัดมาจากพืชน้ำมันและไขมันสัตว์ได้ เช่น ปาล์มน้ำมัน น้ำมันมะพร้าว และดอกทานตะวัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการทางเคมีก็จะได้ "วัตถุดิบโอเลโอเคมีคัลขั้นพื้นฐาน (Basic Oleochemical)" ได้แก่ 1.กรดไขมัน (Fatty Acid) เอาไปทำสบู่ พลาสติก และกระดาษ เป็นต้น 2.กลีเซอรีล (Glycerin) เอาไปทำสบู่ เครื่องสำอาง และอาหาร 3.เอสเตอร์ไขมัน (Fatty Esters) เอาไปทำไบโอดีเซลและสารทำความสะอาด 4.แฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty Alcohol) เอาไปทำสบู่และผงซักฟอก และ 5.ไขมันเอมีน (Fatty Amine) เอาไปทำสิ่งทอ พลาสติก และน้ำมันหล่อลื่น

 

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

 

วันนี้ผมขอถอดรหัสการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของมาเลเซียว่าเป็นอย่างไร เพราะทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของอาเซียน และในบางผลิตภัณฑ์ก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอีกด้วย มาเลเซียถือได้ว่า เป็น "ต้นแบบของอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล" เพราะมีการพัฒนาและความพร้อมในหลายด้วย โดยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2523 (มาเลเซียปลูกปาล์มเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 2460 โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อว่า Henri Fauconnier (อองรี ฟาคอนเนีย) ที่เมือง Batang Berjuntai ในรัฐเซลังงอร์ (Selangor) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลถือว่ามีอนาคตมาก เพราะมีความต้องการใช้อีกมาก และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของมาเลเซียได้ด้วย นอกจากนี้ เป็นการลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลขั้นพื้นฐาน
 


ความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลมาเลเซียจากปาล์มน้ำมันปาล์มมาจาก 1.การสร้างองค์อิสระเพื่อเข้ามาดูแลทั้งระบบ ซึ่งเป็นการตั้งหน่วยงานทั้งในประเทศมาเลเซียและนอกมาเลเซีน และถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล, จากการตั้ง "สถาบันวิจัยน้ำมันปาล์ม" หรือ "PORIM" (Palm Oil Research Institute of Malaysia) เมื่อปี  2522 (ภายใต้กฎหมาย Parliament Act 218) เงินทุนวิจัยมาจากการเก็บจากน้ำมันปาล์มดิบปีละ 70 ล้านริงกิต (560 ล้านบาท) ก่อนการตั้ง PORIM งานวิจัยปาล์มขึ้นกับมหาวิทยาลัยและบริษัทปาล์มเอง

 

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย

 

ต่อมาในปี 2543 มาเลเซียตั้ง "คณะกรรมการน้ำมันปาล์ม" MPOB (Malaysian Palm Oil Board) ภายใต้กฎหมาย Malaysia Palm Oil Board Act 582 โดยยุบรวม PORIM กับ PORLA (Palm Oil Registration and Licensing Authority) ที่ตั้งเมื่อปี 2519 ที่ทำหน้าที่สร้างกฎเกณฑ์กติกาการจัดเก็บบการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม สร้างมาตรฐานและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บทบาทหน้าที่ของ MPOB จึงครอบคลุมครบวงจร ทั้งการทำหน้าที่วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด โดยสามารถทำหน้าที่อย่างอิสระ รวมทั้งสามารถตั้งงบประมาณของตนเองได้ สามารถแต่งตั้งบุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถที่ให้ผลตอบแทนตามความสามารถอีกด้วย

ในส่วนของกลุ่มบริษัทเอกชนของมาเลเซีย ได้มีการจัดตั้ง "Malaysia Oleochemical Manufacturers Group : MOMG" ขึ้นเมื่อปี 2523 ประกอบด้วย 12 บริษัทใหญ่ ที่ทำอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล ซึ่งมีศักยภาพการผลิต 20% ของการผลิตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลโลก เช่น บริษัท IOI Acidchem International Sdb Bhd และ Akzo Nobel Oleochemicals Sdb Bhd เป็นต้น (ให้สิทธิประโยชน์จูงใจ คือ การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 10 ปี) ต่อมา บริษัทเหล่านี้ได้ตั้ง AOMG (ASEAN Oleochemical Manufacturing Group) มีบริษัทในประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออุตสหกรรมโอเลโอเคมีคัลในอาเซียน

นอกจากนี้ มีกระทรวงอุตสาหกรรมและสินค้า (Ministry of Plantation Industries and Commodities : MPIC) รวมทั้ง สภาปาล์มน้ำมันมาเลเซีย (Malaysia Palm Oil Council : MPOC) ทำหน้าที่ขยายโอกาสทางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ปัจจุบัน มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป (เบลเยียม) กานา ปากีสถาน อินเดีย บังคลาเทศ จีน ตุรกี และมอสโก


2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลที่ชัดเจน ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าผู้นำมาเลเซียจะเป็นใคร แต่นโยบายหรือยุทธศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ความสำเร็จที่สำคัญอันสุดท้าย คือ การมี "ยุทธศาสตร์เปลี่ยนเศรษฐกิจ (Economic Transformation Program : ETP)" ที่มีเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2563 เน้น 12 อุตสาหกรรมหลัก (National Key Economic Area : NKEA) หนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและโอเลโอเคมีคัล โดยเน้นผลิตภัณฑ์โอเลเคมีคัลต่อเนื่อง (Oleochemical Derivatives) ครับ
 

ถอดรหัสลับ! อุตฯโอเลโอเคมีคัล "มาเลย์" กับอนาคตปาล์มน้ำมันไทย