อดีตขรก.ระดับสูง ใต้ปีกซีพี ตัวช่วยที่ทรงพลัง

06 เม.ย. 2562 | 11:00 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
อดีตขรก.ระดับสูง  ใต้ปีกซีพี ตัวช่วยที่ทรงพลัง
ใกล้ปิดฉากลงแล้วสำหรับการเจรจาโครงการรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน กับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง หรือ ซีพี และพันธมิตร

การเจรจาที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน มีสาเหตุมาจาก “ข้อเสนอพิเศษ” ของกลุ่มซีพี ที่แม้ ว่าจะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 90,722 ล้านบาทตํ่ากว่าคู่แข่ง และตํ่ากว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท แต่กลุ่มซีพีกลับเสนอให้รัฐบาลนำเงินส่วนที่เหลือจากกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติ 28,703 ล้านบาท มาจัดตั้งกองทุนสำรองฉุกเฉิน หรือ Contingency Fund เพื่อประกันความเสี่ยงโครงการหากประสบปัญหาทางการเงินจากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ แต่คณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่าถ้าอนุมัติตามที่กลุ่มซีพีเสนอ ตัวเลขขอรับการอุดหนุนจะเพิ่มจาก 90,722 ล้านบาท เป็น 119,425 ล้านบาทเท่ากับกรอบวงเงินอุดหนุนที่ครม.อนุมัติ ที่สำคัญคือจะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนตัวเลขที่เสนอมา

อดีตขรก.ระดับสูง  ใต้ปีกซีพี ตัวช่วยที่ทรงพลัง

ว่ากันว่าข้อเสนอพิเศษชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นโบแดง ของ “ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ถูกดึงเข้าไปนั่งเก้าอี้รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุนเครือซีพี หลังจากเขาตัดสินใจลาออกปิดฉากเส้นทางชีวิตข้าราชการ เมื่อปี 2552

“ศุภรัตน์” ถือเป็นนักการเงิน การคลัง ระดับแถวหน้าของประเทศ ในสมัยรับราชการเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆหลายด้าน เช่น หัวหน้าฝ่ายนโยบายภาษี กองนโยบายและแผน กรมสรรพากร ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กรมสรรพากร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโครงสร้างภาษีสรรพากร, ที่ปรึกษาการคลัง,ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, อธิบดีกรมสรรพากร และตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดกระทรวงการคลัง

การดึง “ศุภรัตน์” เข้ามาช่วยจัดทำข้อเสนอด้านการเงินในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงถือเป็นแต้มต่อของกลุ่มซีพี เพราะ “ศุภรัตน์” แม่นเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบทางราชการ กฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนอย่างทะลุปรุโปร่ง อีกทั้งยังมีคอนเนกชันที่ดีกับข้าราชการในกระทรวงการคลัง

ที่น่าสนใจกว่านั้น เมื่อเจาะลึกไปที่บริษัทต่างๆ ในเครือซีพี พบอดีตข้าราชการหลายรายนั่งเป็นกรรมการบริษัท เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ที่มี “ธนินท์ เจียรวนนท์” เป็นประธานคณะกรรมการ มีชื่อ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นางวัชรี วิมุกตายน อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ

อดีตขรก.ระดับสูง  ใต้ปีกซีพี ตัวช่วยที่ทรงพลัง

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี ประเภทร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มี ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตอัยการสูงสุด และอดีตตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ, นายปรีดี บุญยัง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมศุลกากร และอธิบดีกรมบัญชีกลาง, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ

ขณะที่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) มีการดึงนายอาสา สารสิน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ, ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นกรรมการอิสระ ขณะที่กลุ่มสื่อ สารโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีชื่อ นายเรวัต ฉํ่าเฉลิม อดีตอัยการสูงสุดเป็นกรรมการอิสระ

ต้องยอมรับว่าการดึงอดีตข้าราชการระดับสูงจากที่ต่างๆมาร่วมงาน นอกจากจะทำให้กลุ่มซีพีมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจแล้ว คอนเนกชัน ของคนเหล่านี้ยังเป็นตัวช่วยที่ทรงพลังของเครือซีพี 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3459 ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2562

อดีตขรก.ระดับสูง  ใต้ปีกซีพี ตัวช่วยที่ทรงพลัง