เปิดกลยุทธ์‘กอบกาญจน์’ ตอบจริตทัวริสต์ดันเป้า 2.4 ล้านล้านบาท

26 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความหวังของรัฐบาลที่มุ่งพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2559 หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 2.4 ล้านล้านบาท หลังจากปีที่แล้วทำรายได้ทะลุ 2.33 ล้านล้านบาท เป้าหมายใหม่ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง

 หวังลึก ๆ ทะลุเป้ารายได้

ต่อเรื่องนี้ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ร่วม 2 ปีได้เดินหน้าทำยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว วางรากฐานท่องเที่ยวไปสู่ตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ยึดหลักสร้างความสมดุลรายได้กับสังคม-สิ่งแวดล้อมและให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวง

แม้หลายคนมองว่าเป็นนามธรรมแต่ก็ต้องทำ ขณะนี้ได้สะท้อนออกมาในรูปของรายได้ จะเห็นว่า การประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ารายได้เพิ่มขึ้น 18.2 % เป็นไปตามที่รองนายกฯสมคิดตั้งความหวังไว้ และเราพยายามไม่พูดถึงตัวเลขโดยท่านพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านท่องเที่ยวบอกว่าให้เราเจียมตัวไว้ก่อน ซึ่งลึก ๆ แล้วน่าจะทำได้ รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าวอย่างมั่นใจพร้อมระบุว่า สถานการณ์ไตรมาสแรกคาดจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 8.94 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.3 % สร้างรายได้ 4.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2 % จากปีที่แล้ว

ขณะนี้หลายคนไม่ห่วงว่านักท่องเที่ยวจะไม่มา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามาแล้วจะไปเที่ยวที่ไหนมากกว่า เรื่องนี้ รมว.กอบกาญจน์ กล่าวว่า เราจึงต้องมี 12 เมืองห้ามพลาดและ 12 เมืองห้ามพลาด (พลัส) เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้แม้แต่ละเมืองจะรับได้ไม่มาก เพราะไม่ใช่ตลาด แมส แต่ท้องถิ่นต้องขยันให้การดูแลนักท่องเที่ยว บางเมืองอาจจะรับได้มากน้อยต่างกัน

 บาลานซ์ตลาดทัวร์จีน

อย่างไรก็ดีปีนี้เราเน้นคุณภาพแต่ประเด็นขณะนี้ ถ้ามองในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เราก็ต้องบาลานซ์เพราะตลาดนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นแยะ ทำอย่างไรถึงจะดึงนักท่องเที่ยวประเทศอื่นเข้ามาเพิ่มขึ้น และเห็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเกือบจะเท่ากับตลาดจีนคือมีจำนวน 7.8 ล้านคนหรือคิดเป็น 26 .4 % ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าไทย สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากตลาดจีนที่มีจำนวน 7.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.5 % และวันพักของตลาดจีนอยู่ที่ 6-7 วันในขณะที่อาเซียนอยู่ที่ 4-5วัน เพราะระยะทางใกล้กว่า

กลยุทธ์ของ รมว.การท่องเที่ยวฯ จึงมองว่าตลาดอาเซียนจึงถือเป็นตลาดใหญ่ที่ประเทศไทยต้องวางตำแหน่งให้เป็นศูนย์กลางหรือฮับของภูมิภาคนี้เพราะถ้าเราไม่ทำอะไร ก็จะเสียตลาดนักท่องเที่ยวไปแน่นอน โดยตามสถิติ ปี 2554 มีนักท่องเที่ยวในและนอกอาเซียนเดินทางท่องเที่ยวรวมกัน 81 ล้านคน ปี2557 เพิ่มมาเป็น 105 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากนอกกลุ่มอาเซียน 56 ล้านคน หรือ 53.2 % ที่เหลือเป็นอาเซียนเที่ยวกันเอง 49 ล้านคนหรือ 46.8 % มีการขยายตัวปีละ 10 %

 รุกเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน

"จากการพูดคุยกับรมว.การท่องเที่ยวกัมพูชาเขาก็ตั้งความหวังว่านักท่องเที่ยวไทยก็คือเป้าหมายสำคัญของกัมพูชา ใครไม่มาไม่เป็นไรเขาขอให้คนไทยไปเที่ยวกัมพูชาก็พอ และต้องการให้นักลงทุนไทยเข้าไปสร้างโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเราต้องรีบดูลู่ทางการลงทุน ไม่เช่นนั้น ทุนจีน สิงคโปร์ก็จะเข้าไปลงทุนหมด"

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่ไทยที่หวังตลาดอาเซียนแต่ทุกประเทศก็หวังที่จะดึงนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้เที่ยวกันเอง ส่วน 3 อันดับแรกนักท่องเที่ยวในอาเซียนที่มาไทยคือ มาเลเซีย ลาว และสิงคโปร์ เดินทางทางบก 53 % จึงจำเป็นต้องพัฒนา ด่านชายแดนต่าง ๆ ขึ้นมารองรับ ขณะที่ผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปถึง 2.8 หมื่นบาท และนิยมมาซื้อเสื้อผ้าอันดับแรก รองลงมา อาหารแห้งของขบเคี้ยว เครื่องหนัง อัญมณี เครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสการขยายตลาดเพิ่มเติมสิ่งที่เรากำลังเริ่มทำ ต้องพยายามเป็นฮับให้มากขึ้น เรามีโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่จะทำให้เกิดเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักสู่เมืองหลัก เมืองหลักสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นสู่ท้องถิ่นเพื่อดันไทยเป็นฮับอย่างแท้จริงและได้มอบหมายให้ททท.ทำลิสต์เมืองต่าง ๆ เพื่อให้สายการบิน ไทยสมายล์ นกแอร์ แอร์เอเชีย เปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ รองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนให้มาไทยก่อนที่จะเดินทางไปประเทศอื่น

 ขานรับ"บิ๊กตู่"อาเซียนคอนเน็กต์

"ขณะนี้บางกอกแอร์เวย์สมีบริการเส้นทางบินจากเชียงใหม่ไปมัณฑะเลย์ พุกาม เนปิดอว์ และกลับกทม. ซึ่งเริ่มแล้ว เพื่อทำให้ ไทย มีคอนเน็กติวิตีมากขึ้นหรือเส้นทางบกจากศรีสะเกษ ผ่านช่องสะงำ ไปเสียมราฐใกล้สุด และยังมองหาเส้นทางอื่นด้วย"

การรวมตัวของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รมว.การท่องเที่ยว ฯ ยอมรับว่า มีผลเสียต่อไทยเช่นกันเพราะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้สะดวก ไทยก็จะถูกแชร์วันพักแน่ จากเมื่อก่อนเราได้คนเดียว แต่ถ้ามองในมุมกลับถ้าเราไม่แชร์ก็ไม่สามารถเป็นอาเซียนฮับ การเติบโตในอนาคตเรามีปัญหาแน่ หากไม่ทำจริงจัง เหมือนกับเราต้องเปิดให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หรือถ้าเราไม่ช่วยเมียนมา เขาก็ไปคอนเน็กต์กับสิงคโปร์ เป็นต้น

"จึงต้องแชร์ไว้ก่อน และมิติของการแชริ่งทำให้ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวเพิ่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯสั่งไว้ว่าต้องคอนเน็กต์ เศรษฐกิจชายแดนถึงจะขยายตัว การท่องเที่ยวการค้าต้องไปด้วยกัน ต้องส่งเสริมตามตะเข็บชายแดนให้มาก ซึ่งจะเห็นว่าด่านแม่สอด จะโตเร็วมาก ส่วนศูนย์กลางคมนาคมคงไม่ใช่ที่กทม.แต่จะสร้างเชียงใหม่เป็นฮับตอนบน สร้างภูเก็ตเป็นฮับตอนล่าง รวมถึงขยายสนามบินอื่นๆ รองรับ และทำอย่างไรให้ไทยเป็นวีกเอนด์เดสติเนชันของอาเซียน" รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว

 จุดพลุสปอร์ตทัวริซึมเวทีโลก

นอกจากนี้ในฐานะกำกับดูแลงานด้านกีฬาอยู่ด้วย กีฬาจึงถูกวางเป็นสินค้าที่ขายทางการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเชิงกีฬาลึก ๆ แล้วตอบโจทย์เป้าหมายท่องเที่ยวแบบสโลว์(ช้า) ได้วันพักเพิ่มอีกคืนหรือสองคืน ภาพลักษณ์ดี ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงต้องพยายามทำให้คนในวงการท่องเที่ยวรู้จักใช้กีฬาเป็นแพ็กเกจในการขายการท่องเที่ยว เช่น คนญี่ปุ่นชอบวิ่งมาราธอน เมืองไทยจัดตลอดทั้งปี ขณะนี้ททท.เริ่มนำไปเสนอขายในตลาดญี่ปุ่นแล้ว โดยเริ่มที่เชียงใหม่ เมื่อปลายปี มีต่างชาติมาร่วม 2.5 พันคน ส่งผลให้โรงแรมเชียงใหม่มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 98 % และโรงแรมกำหนดเลยว่าจะต้องพัก 3 คืน ทั้งยังมี เส้นทางจักรยาน ไตรแอธลอน มวยไทย ซึ่งตอนนี้กระแสแรงมาก อย่างไตรแอธลอนอุปกรณ์แพงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เริ่มภูเก็ต ขณะนี้แพร่หลายมากส่วนพัทยามีการแข่งขันสกีที่ดีสุดของโลกไปแล้ว เป็นต้น

"เราเริ่มโปรโมต สปอร์ตทัวริซึมในงาน ท่องเที่ยวโลก ไอทีบี เบอร์ลิน โดยจัดทำคู่มือวางแผนเดินทางให้นักท่องเที่ยวเป็นเล่ม มีอีเวนต์อะไรบ้าง การคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าอาหาร ค่าที่พักเท่าไร เพื่อขายพ่วงกับการท่องเที่ยว กระแสการตอบรับที่ดีมาก"

ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมไทยเที่ยวไทยแม้จะมีค่าใช้จ่ายลดลง อาจเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจแต่จำนวนก็ทะลุเป้า ซึ่งยังเป็นฐานตลาดที่สำคัญที่ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง รมว.กอบกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559