"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด

12 เม.ย. 2562 | 07:56 น.

"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด



ค่ายรถยนต์วอน ธปท. ขอความชัดเจน คุม "สินเชื่อรถยนต์" หวั่นกระทบยอดขาย เหตุไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ ด้าน 'ทีเอ็มบี' ชี้! "สินเชื่อเช่าซื้อ" น่าเป็นห่วง หลังยอดคงค้างทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท แซงหน้ามาตรการ "รถคันแรก" แถมส่วนหนี้รถยนต์ไทยแตะ 24% สูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย

ตลาดรถยนต์ ปี 2561 ปิดยอดขาย 1.039 ล้านคัน โต 19.2% เทียบกับปี 2560 เกิดปรากฏการณ์ที่บรรดาค่ายรถยนต์ลงมาเล่นสงครามราคาอย่างหนัก พร้อมจับมือกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการขายอย่างเต็มที่ ด้วยแคมเปญส่วนลดหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท หรือไม่ต้องมีเงินดาวน์ก็สามารถออกรถได้ บางกรณีแม้ลูกค้าที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อมาจากแบรนด์ใหญ่ ๆ แต่เมื่อย้ายมาซื้อรถยนต์แบรนด์อื่น ๆ กลับได้รับการอนุมัติอย่างง่ายดาย แสดงให้เห็นว่า นโยบายของบริษัทแม่ต้องการเพิ่มยอดขายถึง 1 ล้านคัน โดยงาน "มอเตอร์โชว์ 2019" ที่ถือเป็นดัชนีชี้วัดตลาดได้ระดับหนึ่ง ยังได้ยอดจองรวม 37,769 คัน


"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด
 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า เป็นจุดเปราะบางที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน และยังเป็นตัวผลักดันให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงมีแนวคิดที่จะใช้มาตรการกำกับดูแลและควบคุมเหมือนกับที่เคยดำเนินการมาแล้วกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการควบคุมอัตราส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV)

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ ไฟแนนซ์อาจจะกังวลใจกับท่าทีของ ธปท. ทำให้เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและใช้เวลาในการพิจารณา ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็อาจจะกระทบกับผู้ผลิตในการขายรถ รวมไปถึงการวางแผนการผลิตรถออกมาเพื่อจำหน่าย จึงต้องการให้ ธปท. มองหลาย ๆ ด้าน หลายแง่มุม ก่อนจะออกมาตรการบังคับใช้ และไม่ควรสร้างความตื่นตระหนก หรือ เกิดความกังวลใจ จนกระทบกับการปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์


"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด
⇲  พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบกับการขายรถ บริษัทรถยนต์ยังแข่งขันกันตามปกติ ไม่มีการปรับแผนงาน ซึ่งแต่ละบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีลีสซิ่งเป็นของตัวเอง จะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อง่าย ส่วนลูกค้าที่ซื้อเอ็มจีจะจัดไฟแนนซ์ 80-90% ที่เหลือซื้อเงินสด

ด้าน "โตโยต้า ลีสซิ่ง" ที่ครองสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อรถยนต์โตโยต้ากว่า 60% ระบุว่า ที่ผ่านมา การให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินมีความซับซ้อน หากมีการกำหนดนโยบายจากหน่วยงานกลางเข้ามากำกับดูแล ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก บริษัทในฐานะ Non-Bank ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

 


แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า การซื้อขายรถในแต่ละโชว์รูมจะมีทั้งไฟแนนซ์ที่เป็นของค่ายรถและไฟแนนซ์ของสถาบันการเงิน ซึ่งบางแห่งมีให้เลือกมากถึง 5-6 เจ้า ทำให้แข่งขันสูง บางรายเป็นไฟแนนซ์น้องใหม่ อาจมีข้อเสนอหรือให้เงื่อนไขกับดีลเลอร์มากกว่าเจ้าอื่น ๆ ตัวอย่าง ไฟแนนซ์ A และ B ให้ค่าคอมมิสชัน 8% แต่ C ซึ่งเป็นน้องใหม่ อาจเพิ่มให้ 10-12% ดังนั้น การที่ ธปท. จะออกกฎเกณฑ์เงื่อนไขใหม่มาควบคุมถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะค่ายใดค่ายหนึ่ง

ด้าน นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หาก ธปท. จะเข้ามากำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะควบคุมยากกว่าอสังหาริมทรัพย์ แม้ปัญหาหลักจะคล้ายกันในเรื่อง LTV แต่สินเชื่อเช่าซื้อจะซับซ้อนกว่า จากการที่มีผู้ประกอบการหลากหลาย 40-50 ราย และไม่ได้เป็นธนาคารพาณิชย์กว่า 50% ทำให้ ธปท. ต้องประสานงานและตรวจตราที่เยอะขึ้น และจะทำอย่างไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน


"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด
 

ขณะเดียวกัน โครงสร้างการกู้เงินยังซับซ้อน ไม่ได้สะท้อนมูลค่า (Value) ที่แท้จริง เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อจะถูกบังคับให้เข้าไฟแนนซ์และเจอกับโปรโมชันการผ่อนแบบบอลลูน เช่น ผ่อน 0% นาน 3-5 ปี แต่หลัง ๆ ผ่อนวงเงินสูง ๆ หรือแม้แต่รถยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน แต่ละไฟแนนซ์ประเมินวงเงินไม่เท่ากัน หรือ มีส่วนลด แต่ไม่รวมในมูลค่าประเมิน โดยยังคิดมูลค่าเต็ม

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อจะพบว่า ยอดคงค้างไตรมาส 1 ปี 2562 สูงขึ้นมาแตะที่ 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าสินเชื่อคอนโดมิเนียม ที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2561 ถือเป็นครั้งแรกที่ยอดสินเชื่อทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงที่มีโครงการ "รถคันแรก" ที่มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.1 แสนล้านบาท โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 1.6 แสนล้านบาท และหากดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ยังพบว่า ไทยมีสัดส่วนหนี้รถยนต์สูงถึง 24% หรือ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะมีหนี้สินที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่


"ค่ายรถ" โวย! ธปท. คุมเช่าซื้อ ฉุดยอด