สินเชื่อซึม อานิสงส์LTVดันQ1โต5.7%

18 เม.ย. 2562 | 07:50 น.

 

ประธานสมาคมแบงก์ไทยรับ ภาพรวมสินเชื่อต้นปียังโตช้า เหตุปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งสงครามการค้า การส่งออกชะลอ เชื่อทั้งปียังโตได้ ด้านกสิกรไทยรับ รายใหญ่-เอสเอ็มอีชะลอลง รอโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ 
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสแรก มียอดสินเชื่อคงค้าง 12.46 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.5-5.7% ทรงตัวจากไตรมาส 4 ปี 2561 ที่มีอัตราการขยายตัวที่ 5.7% มียอดสินเชื่อคงค้าง 12.44 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดีมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่จะเริ่มบังคับใช้เกณฑ์อัตราส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อหลักประกัน(LTV)ในวันที่ 1 เมษายน 2562
    นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย(TBA)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมสินเชื่อช่วงต้นปีอาจจะเริ่มช้าหน่อย แต่เชื่อว่า จะเร่งตัวขึ้นตามลำดับ เพราะช่วงต้นปีจะมีเหตุการณ์ต่างๆเข้ามากระทบ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ดังนั้นแนวโน้มทั้งปี จะมีทั้งปัจจัยบวกและลบ แต่เชื่อว่าสินเชื่อไม่น่าจะตกตํ่าไปมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น สมาคมได้พูดคุยเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ซึ่งอยู่ในระดับ 40% ถือว่าอยู่ในโซนปลอดภัย ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อที่ต้องระวัง แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารแต่ละแห่งด้วย

สินเชื่อซึม อานิสงส์LTVดันQ1โต5.7%
    นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สินเชื่อไตรมาส 1 ที่ขยายตัวไม่มากเป็นไปตามฤดูกาลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง มาจากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับสินเชื่อธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ(Trade Finance) ชะลอตัวตามการส่งออกที่ชะลอตัวลง
    ดังนั้นแนวโน้มครึ่งปีแรก สินเชื่อยังคงชะลอตัว แต่ทั้งปี น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5-7% แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยเติบโต 9-12% รายใหญ่ 3-5%และเอสเอ็มอี 2-4%  ขณะที่คุณภาพสินเชื่อค่อนข้างดี โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับดีที่ 3%
    “ทิศทางสินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากลูกค้าต้องการสินเชื่อก่อนที่ LTV จะมีผลบังคับใช้ ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่และเอสเอ็มอี ยังไม่ค่อยขยายตัว แต่เชื่อว่า 
สินเชื่อต่างประเทศจะมาช่วยสนับสนุนการเติบโตเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศมีพอร์ตใหญ่ และขยายตัวได้ดี ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างต่างประเทศรวม 2.46 หมื่นล้านบาท” 
    นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สินเชื่อปัจจุบันยังขยายตัวไม่มาก แต่ถือว่าใกล้เคียงเป้าหมายเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะมีลูกค้าขนาดใหญ่ชำระคืนหนี้ ส่วนไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวตามความต้องการสินเชื่อและแนวโน้มเศรษฐกิจ ทั้งปีน่าจะขยายตัวตามเป้าหมาย 5-6% ซึ่งปีนี้ ธนาคารจะเน้นดูเรื่อง Risk Return และขยายการเติบโตในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน รวมถึงธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ซึ่งจะให้รายได้ค่าธรรม เนียมและผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง(Wealth Management) การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Advisory) และประกัน ซึ่งจะเป็นรายได้หลักในอนาคต
    นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งรวมทั้งลูกค้าขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีที่ 6.2% โดยภายในสิ้นปี จะมียอดสินเชื่อคงค้าง 6.89 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2561 ที่ 6.49 แสนล้านบาท โดยช่วง 2-3 เดือนแรก อัตราการเติบโตจะมาจากดีลและการทำธุรกรรม (Transaction) ให้กับลูกค้า
    ส่วนแนวโน้มสินเชื่อธุรกิจคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว แต่จะรักษาความเป็นผู้นำอย่างไร ธนาคารจึงพัฒนาเรื่องดิจิทัลและโมบายแบงกิ้ง ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องเน้นการเพิ่มมูลค่าเข้าไป ขณะที่สินเชื่อกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังเป็นกลุ่มที่ขยายตัวได้ 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

สินเชื่อซึม อานิสงส์LTVดันQ1โต5.7%