ทุนการเมือง ‘พลังประชารัฐ’ ยังอู้ฟู่

21 เม.ย. 2562 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2562 | 12:46 น.

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายรวมของทั้งผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ไว้สูง สุดไม่เกิน 560 ล้านบาท โดยพรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร 350 คน เฉลี่ยผู้สมัครส.ส. 1 คน ต้องใช้เงินในการเลือกตั้งไม่เกินคนละ 1.6 ล้านบาท

ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องจัดระดมทุน ที่นิยมกันมักเป็นในรูปแบบการจัดโต๊ะจีน เช่น กรณีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดระดมทุน 200 โต๊ะ โต๊ะละ 3 ล้านบาท ได้ยอดบริจาคมากถึง 622 ล้านบาท

 

กลุ่มทุนบริจาค“พปชร.”

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พลังประชารัฐ กลายเป็นพรรคที่มีกลุ่มทุนสนับสนุนมากที่สุด อาทิ กลุ่มทุนที่ร่วมบริจาคโต๊ะจีน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ บริษัท เสรีสรรพกิจ จำกัด บริจาค 2 ล้านบาท, บริษัท แบรนด์ดิ้ง โซลูชั่น จำกัด, บริษัท อินไซท์ คอนซัลติ้ง รีเสิร์ช จำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บีเคเค เทรดดิ้ง 2018 ประกอบธุรกิจขายส่งนํ้ามันเชื้อเพลิงบริจาค 3 ล้านบาท, บริษัท สกายไฮ จำกัด เป็นบริษัทจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสารและคมนาคม บริจาค 1 ล้านบาท, บริษัท บี.วาย.โฮลดิ้งฯ หรือชื่อเดิม บริษัท มาลาคี จำกัด, บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริจาค 6 ล้านบาท, บริษัท อาร์ เอส เอส 2016ฯ บริจาค 3 ล้านบาท, เครือสกาย ไอซีที (SKY) บริจาค 6 ล้านบาท, บริษัท เก้าเอส เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด บริจาค 2 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทเครือคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานการซื้อขายสินค้าปลอดภาษีในท่าอากาศยานต่างๆ บริจาค 24 ล้านบาท

เครือล็อกซเล่ย์ บริจาค 6 ล้านบาท ไม่รวมบริษัทย่อยของล็อกซเล่ย์ คือบริษัทรักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ ทอท.บริจาคให้พลังประชารัฐอีก 3 ล้านบาท, บริษัท ที.ที.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริจาค 3 ล้านบาท, บริษัท เอ็ม.ไอ.ซี.โซลูชั่น จำกัด บริจาค 3 ล้านบาท

รวมทั้งเครือทีพีไอ ธุรกิจด้านพลังงาน ของตระกูล “เลี่ยวไพรัตน์” ในงานระดมทุนของพลังประชารัฐ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้มาร่วมงานพร้อมบริจาค 6 ล้านบาท

ทุนการเมือง ‘พลังประชารัฐ’ ยังอู้ฟู่

“มิตรผล”หนุนพปชร.9ล้าน

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สนับ สนุนโต๊ะจีนให้พลังประชารัฐก็คือ เครือมิตรผล บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตนํ้าตาลภายในประเทศ ที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐเพื่อปลูกพืชผลิตนํ้าตาลหลายพื้นที่ บริจาคเงินผ่านการระดมทุน 9 ล้านบาท ซึ่ง นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริหารในเครือมิตรผล ก็เคยมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยบริษัท นํ้าตาลมิตรผลฯ ที่มี “อิสระ ว่องกุศลกิจ” เป็นประธานกรรมการ เป็นกลุ่มเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลรายใหญ่ของประเทศ และเคยเป็น “กลุ่มทุนการเมือง” รายใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์

 

ทุนยักษ์ใหญ่หนุนพปชร.

นอกจากกลุ่มทุนที่บริจาคเงินสนับสนุนโต๊ะจีนให้กับพรรคพลังประชารัฐแล้ว เชื่อกันว่ากลุ่มภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยงานรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล  จำกัด, บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพี), บมจ.ซีพี ออลล์, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ต่างก็ร่วมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐด้วย 

นอกจากนั้นเป็นกลุ่มทุนที่มาจากคอนเนกชันของแกนนำพรรค อาทิ กลุ่มเมโทรแมชีนเนอรี่ ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” อดีต ส.ส.กทม. ปัจจุบันเป็นรองหัว หน้าพรรค ซึ่งเป็นแม่งานใหญ่ในการจัดโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ

กลุ่ม “บางแสนโฮสเทลกรุ๊ป” ของตระกูล “คุณปลื้ม” ผ่านทาง 2 พี่น้อง สนธยา-อิทธิพล คุณปลื้ม บุตรชายนายสมชาย คุณปลื้ม หรือ “กำนันเป๊าะ” ผู้กว้างขวางภาคตะวันออก

ว่ากันว่า... แม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ “พรรคพลังประชารัฐ” ยังมีทุนสนับสนุนอู้ฟู่เหมือนเดิม

  

‘เพื่อไทย’  กินบุญเก่า 

พรรคเพื่อไทย กลุ่มทุนหลักยังเป็นธุรกิจของกลุ่มเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลชินวัตร ซึ่งขณะนี้ มี ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บริหาร, ธุรกิจกลุ่ม เอสซีแอสเสท ของตระกูล “ดามาพงศ์” ที่มีคุณหญิงอ้อ “พจมาน
ดามาพงศ์” อดีตภรรยาทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

กลุ่มตระกูลมหากิจศิริ ของ “ประยุทธ มหากิจศิริ” ที่สนิทสนมกับ ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นอีกกลุ่มที่ยังเหนียวแน่นกับเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย จนถึงปัจจุบัน 

ทุนการเมือง ‘พลังประชารัฐ’ ยังอู้ฟู่

รวมทั้งบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “อัศวโภคิน” ของ อนันต์ อัศวโภคิน และธุรกิจของอาณาจักรทีซีซี คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเสี่ยนํ้าเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” 

หันมาดูนายทุนของ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินบริจาคจากธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ผ่านคอนเนกชัน ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, เครือดุสิตธานี ผ่านทาง พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะเขยดุสิต, บมจ.เอพี, กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บี.กริม เพาเวอร์, อมตะ คอร์ปอเรชั่น

กลุ่มนักธุรกิจที่สนับสนุนในรูปแบบเงินบริจาค เช่น เบญจจินดา โฮลดิ้ง, ยิบอินซอย, อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น, กรุงธนเอนยิเนียร์, สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) 

ขณะที่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ คอยกำกับอยู่ข้างหลัง ได้จัดงานระดมทุนได้นํ้าเลี้ยง 234 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มทุนที่เคยหนุนการชุมนุมของ กปปส. อาทิ กลุ่มพ่อค้าเชื้อสายอินเดีย นายหัวเศรษฐีปักษ์ใต้ กาแฟยี่ห้อดังใน จ.ชุมพร กลุ่มธุรกิจประกัน กลุ่มทุนธุรกิจนํ้าตาล หรือกลุ่มธุรกิจเหล้าเบียร์ มาช่วยลงขัน 

ภท.นายทุนใหญ่เพียบ

 

พรรคภูมิใจไทย(ภท.) พรรคนี้นายทุนใหญ่เพียบ รวยอันดับต้นๆ ของประเทศ อาทิ เจ้าสัวรับเหมาก่อสร้างแห่ง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ของ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” และ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีรายใหญ่ของประเทศไทย ของ วิชัย ศรีวัฒนประภา แม้ “เสี่ยวิชัย” เสียชีวิตไปแล้ว แต่ทายาทของอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ยังคงให้การสนับสนุนเช่นเดิม

นอกจากนั้น พบว่า นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือกำนันป้อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานแป้งมันสำปะหลังเอี่ยมเฮง อ.เสิงสาง แห่งเมืองนครราชสีมา และเป็นกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยด้วย ก็ร่วมเป็นนายทุนให้กับพรรคและสนับสนุนผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา ของพรรคภูมิใจไทยด้วย 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21 - 24 เมษายน 2562

ทุนการเมือง ‘พลังประชารัฐ’ ยังอู้ฟู่