‘วิรไท’คุมเข้มงัดDSRสกัดหนี้ครัวเรือน

22 เม.ย. 2562 | 04:35 น.

ธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากแรงกดดันสงครามการค้าลดลง หวั่นตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าลากยาวส.ค.-ก.ย.กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน กิจกรรมเศรษฐกิจชะลอ ยํ้าจีดีพีโต 3.8% ตามศักยภาพ พร้อมส่งสัญญาณคุมความสามารถชำระหนี้ ภาระหนี้ต่อรายได้ปล่อยกู้สินเชื่อ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศการค้าน่าจะดีขึ้นจากแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศลดลง ทำให้การสต๊อกสินค้าล่วงหน้าเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการลงทุนภาคการผลิตกลับมาดีขึ้นได้ ซึ่งการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจจาก 4% เหลือ 3.8% เมื่อเดือนมีนาคม จากปัจจัยต่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่งธปท.คำนึงถึงความไม่แน่นอนของการเมืองด้วย

‘วิรไท’คุมเข้มงัดDSRสกัดหนี้ครัวเรือน

“หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่เกินเดือนมิถุนายน เชื่อว่า จะไม่กระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรุนแรงนัก เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้ามาได้ แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเลื่อนออกไปถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน อาจจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นเรื่องงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะกระทบการลงทุนโครงการใหม่ๆ ได้”

นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องนโยบายที่หาเสียงก่อนเลือกตั้งในบางเรื่อง อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นเอกชน เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ซึ่งเป็นนโยบายที่นักลงทุนรอความชัดเจน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงเดิมควรเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง แต่ถูกเลื่อนออกไป เพื่อรอดูความชัดเจน ตลอดจนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ให้ความสนใจในการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ลากยาวอาจจะกระทบได้

“แนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดตํ่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และน่าจะทยอยดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้เร็ว หลังเดือนพฤษภาคมหรือภายในเดือนมิถุนายนนี้ก็ไม่น่าจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจปีนี้ แต่หากเลื่อนหรือลากยาว ก็อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ได้”

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน นายวิรไทกล่าวว่า ถือเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาระยะยาวของไทย ซึ่งหากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยเทียบต่างประเทศ จะเห็นว่า หนี้ส่วนใหญ่ของต่างประเทศอยู่ในสินเชื่อที่อยู่อาศัยแตกต่างกับไทยที่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นจึงต้องเข้าไปดูแล แต่การแก้ไขระยะยาว อาจต้องดำเนินการด้านอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา เพราะหลายประเทศก็มีมาตรการดูแลเพิ่มเติม

ทั้งนี้มาตรการที่จะดูแลหนี้ครัวเรือนมีหลากหลาย ทั้งการใช้นโยบายระดับจุลภาคและมหภาค โดยระดับจุลภาคคือ เข้าไปดูรายผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อบ้าน หากเห็นว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าที่ควรและไม่ได้ประเมินความสามารถการชำระลูกหนี้ที่ดีและเกิดการแข่งขันเกินพอดี

อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อออกมาตรการกำกับรายผลิตภัณฑ์ คนจะย้ายอีกช่องทางหนึ่งไปอีกช่องทางหนึ่ง และสถาบันการเงินก็จะหาแนวทางแข่งขันกับช่องทางใหม่ ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มมองเกณฑ์ในภาพใหญ่ เช่น ดูความสามารถชำระหนี้ หรือ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ไม่ว่าลูกหนี้จะกู้ผลิตภัณฑ์อะไร ก็ต้องกลับมาดูว่า มีความสามารถแต่ระดับไหน แต่ยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ได้ใช้แพร่หลายในไทย อย่างสินเชื่อรถยนต์ ผู้ปล่อยกู้ดูเรื่องหลักประกันเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ดูถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นตัวตั้ง 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

‘วิรไท’คุมเข้มงัดDSRสกัดหนี้ครัวเรือน