'ซีพี' เชื่อมทุนจีนบุกอีอีซี

26 เม.ย. 2562 | 02:13 น.

 

 

สื่อนอกระบุกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นช่องทางให้กลุ่มทุนจีนเข้าลงทุนในอีอีซี พร้อมหนุนรายได้เข้าอาณาจักรธุรกิจมากขึ้น

 

บลูมเบิร์ก สื่อใหญ่ด้านเศรษฐกิจ เขียนบทวิเคราะห์เรื่อง Thailand’s Richest Family Is Getting Richer Helping China (ตระกูลรวยสุดของประเทศไทย ต่อยอดรวยขึ้นอีกจากการเกื้อหนุนทุนจีน) ระบุว่า นาย เจีย เอ็ก ชอ หรือ เอ็กชอ แซ่เจี๋ย หนีภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นโจมตีบ้านเกิดทางตอนใต้ของจีนและอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยด้วยการขายเมล็ดพันธุ์ผักร่วมกับน้องชายเมื่อปีพ.ศ. 2464 หลังจากนั้นเกือบศตวรรษ ลูกหลานของนายเจียได้ชื่อว่าเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย และยังกลายเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของท่าน สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนอีกด้วย

 

นายธนินทร์ เจียรวนนท์ บุตรชายของนายเอ็กชอ เป็นประธานอาวุโสของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดในไทย เป็นผู้ผลิตกุ้งและอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีธุรกิจหลัก คือ อาหารและการเกษตรผ่านบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) รวมทั้งยังมีธุรกิจอื่นหลายประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีกร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ธุรกิจค้าส่งห้างแมคโคร ธุรกิจโทรคมนาคมในบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งยังเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในแผนเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีด้วยรถไฟหัวกระสุน เครือข่าย 5 จี และโรงงานผลิตรถอัจฉริยะ

 

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์หลักภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดำริโดยรัฐบาลทหาร (คสช.) ที่ต้องการดึงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทไฮเทคจากญี่ปุ่นและจีน อาทิ อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2561) มีการขยายตัวในอัตรา 4.1% อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า หลังการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งประสบปัญหามากมาย ทำให้เป็นไปได้ว่าโครงการต่างๆภายใต้อีอีซีอาจจะต้องถูกจับตาตรวจสอบมากเป็นพิเศษ รวมถึงโครงการที่ตกเป็นข่าวและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่ารัฐเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับทุนจีนมากจนเกินไปท่ามกลางการเสียประโยชน์ของเกษตรกรไทยในพื้นที่

 

คนในพื้นที่ถูกลดอันดับหรือความสำคัญไปเป็นพลเมืองชั้นสอง อีอีซีทำให้เกิดยุคล่าอาณานิคมผ่านทางนโยบายการลงทุนไทย-จีนสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อีอีซี กล่าว

 

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์บลูมเบิร์กระบุว่า ขณะที่การผลักดันโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ( Belt and Road Initiative: BRI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายประเทศ รวมถึง ศรีลังกา และมาเลเซีย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกมองว่าสร้างประโยชน์เพียงเล็กน้อยให้กับประเทศเจ้าภาพ แต่สิ่งที่ได้มากคือภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับไว้ในระยะยาว กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารของไทยที่ขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กลับเปิดรับไมตรีจากกลุ่มทุนจีนและญี่ปุ่นที่มาพร้อมคำมั่นสัญญาจะลงทุน 53,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนา 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลที่ใกล้กรุงเทพฯ คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

 

ปัจจุบัน พื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในประเทศไทย อุตสาหกรรมการผลิตกำลังกลืนกินพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเมืองตากอากาศชายทะเลอย่างพัทยา ก็กำลังพบกับความเปลี่ยนแปลง ถนนที่วิ่งตัดผ่านทุ่งนา ดงมะพร้าว และสวนมะม่วง มีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งอย่างคึกคักเต็มถนน  พื้นที่การเกษตรถูกเบียดและกลืนโดยโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานเคมีภัณฑ์ และโรงงานผลิตรถยนต์ แท่นขุดเจาะน้ำมันตั้งตระหง่านนอกชายฝั่งของท่าเรือแหลมฉบัง ที่ได้ชื่อว่าท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

 

กลุ่มซีพี เป็นช่องทางหลักสำหรับการลงทุนของจีนในพื้นที่นี้  โดยกลุ่มร่วมทุนที่นำโดยซีพี ครอบคลุมบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชัน คอร์ป (ซีอาร์ซีซี) ผู้ประมูลในราคาต่ำที่สุดมูลค่า 225,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายรถไฟความยาว 200 กิโลเมตร เชื่อมสนามบิน 2 แห่งในกรุงเทพฯ กับสนามบินอู่ตะเภา กลุ่มทุนนี้ ยังเข้าร่วมประมูลสร้างสนามบินด้วย แต่การเปลี่ยนรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการทำข้อตกลงต่างๆ ในอีอีซี ด้วยความที่ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากที่สุดที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว  และ 7 พรรคการเมืองที่ไม่เอาทหาร ก็พยายามจัดตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็กำลังหาทางจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าที่ไทยจะได้รัฐบาลใหม่

 

รัฐบาลทหารจะยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศต่อไป สถานการณ์จะดูซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตามแฮริสัน เฉิง นักวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงจากบริษัทวิจัย คอนโทรล ริสก์ ให้ความเห็น ด้านฝ่ายค้านก็ประกาศว่าจะสนับสนุนโครงการอื่นแทนอีอีซี เช่น การขุดคอคอดกระแล้วพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้นแทน อีกทั้งยังจะผลักดันเรื่องอื่นแทนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐบาลทหารได้วางแนวทางไว้ โดยอ้างว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นการผูกมัดรัฐบาลใหม่มากเกินไป

 

แต่ไม่ว่าอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร สำหรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีนั้น ความเคลื่อนไหวยังเป็นไปในทิศทางคืบหน้า กลุ่มทุนเดิมที่โดดเด่นในพื้นที่อาจจะเป็นญี่ปุ่น แต่ที่กำลังทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มทุนด้านเทคโนโลยี ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ในประเทศไทยรองจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์

 

ส่วนสายสัมพันธ์ของซีพีในอีอีซีนั้น ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ซีพีประกาศตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในปี 2560 กับบริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์ปของจีน ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งซีพีร่วมมือกับบริษัทกวางสี คอนสตรักชั่น เอ็นจิเนียริง กรุ๊ป เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 3,068 ไร่เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุน

 

ขณะที่หัวเว่ย พันธมิตรอีกรายหนึ่งของซีพี ก็กำลังลงทุนด้านการทดสอบเทคโนโลยี 5 จี ในไทย แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะพยายามเรียกร้องประเทศพันธมิตรทั่วโลกให้สกัดกั้นหัวเว่ย ไม่ให้สร้างเครือข่ายอุปกรณ์เคลื่อนที่ยุคต่อไป โดยบริษัททรู คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีพี กำลังสร้างห้องปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) กับหัวเว่ย และใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการ 4 จีรายแรกของไทย ขณะที่โฆษกของหัวเว่ย เปิดเผยว่า บริษัทได้รับเชิญให้เข้าร่วมทดสอบ 5 จี จาก สกพอ.

 

เมื่อปีที่แล้ว (2561) นายแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีน ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และทั้งคู่ได้ลงนามทำข้อตกลงสร้างศูนย์กลางดิจิทัลอัจฉริยะที่เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี และอาลีบาบาได้ลงนามข้อตกลงกับ สกพอ.หลายฉบับ

 

นอกจากนี้ ซีพี ยังจับมือเป็นหุ้นส่วนโครงการกับบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล ของนายแจ็ค หม่า ซึ่งถือหุ้น 20% ในบริษัท แอสเซนด์ คอร์ป ของไทย เพื่อให้บริการด้านอีวอลเล็ตและบริการสินเชื่อรายย่อย ซึ่งการทำข้อตกลงนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี แต่ใช้เครือข่ายของซีพี คือ ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น

 

บทความของบลูมเบิร์กไม่ได้โอกาสในการสัมภาษณ์นายธนินทร์ เจียรวนนท์ แต่ก็พยายามสะท้อนให้เห็นภาพของกลุ่มซีพีในยุคปัจจุบันที่ลูกหลานยุคที่สามเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนายศุภชัย ในฐานะซีอีโอของกลุ่ม (ตั้งแต่ปี 2560) และเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขณะที่นายสุภกิต พี่ชาย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปัจจุบันตระกูลเจียรวนนท์ ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยด้วยสินทรัพย์ 20,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทำเนียบ Bloomberg Billionaires Index โดยหลังจากได้เข้าถือหุ้นในบริษัทประกัน ผิง อัน (Ping An Insurance) ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดในจีนและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในด้านเบี้ยประกันภัย ก็ยิ่งเพิ่มความร่ำรวย ให้กับตระกูลเจียรวนนท์ โดยหุ้นของผิง อัน มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นสามเท่านับตั้งแต่ที่ซีพีเข้าซื้อหุ้นในปี 2555

 

ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของทั้งภูมิภาค โดยเชื่อมโยงขึ้นไปถึงจีน เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย นายศุภชัยเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และในแถลงการณ์หนึ่งของซีพีเกี่ยวกับโครงการในอีอีซีนั้น บริษัทระบุว่า การที่ซีพีเข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่มพันธมิตรนานาชาติที่ประกอบด้วยไทย ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

'ซีพี' เชื่อมทุนจีนบุกอีอีซี