SMEDBankไร้รอยต่อเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอี

26 เม.ย. 2562 | 05:48 น.

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนของการสรรหากรรมการผู้จัดการคนใหม่  โดยล่าสุดได้มีการประกาศรับสมัครกรรมการผู้จัดการเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของ SME D Bank อาจทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) เกิดความกังวลต่อมาตรการสนับ สนุนที่อาจจะต้องหยุดชะงักลง  อย่างไรก็ตาม “พงชาญ สำเภาเงิน”  รองกรรมการผู้จัดการ  ในฐานะรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่มีผลต่อการสนับสนุน  และช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างแน่นอน

 

SMEDBankไร้รอยต่อเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอี

วางยุทธศาสตร์ล่วงหน้า

พงชาญ บอกว่า  SME D Bank มีพันธกิจที่ชัดเจน  และมีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินการในปี 2562 นี้ก็จะมีการกำหนดยุทธ ศาสตร์ตั้งแต่ปี 2561 อีกทั้งทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ากรรมการผู้จัดการกำลังจะหมดวาระ และกระบวนการในการสรรหาจะต้องใช้เวลา  จึงได้มีการวางแผนกันเอาไว้เรียบร้อยหมดแล้ว  ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการไม่ปล่อยสินเชื่อ  หรือชะลอการปล่อยสินเชื่อต่างๆจะไม่เกิดขึ้น เพราะได้มีการสร้างระบบไว้แล้ว ทุกขั้นตอนมีการสอดรับกันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตนที่จะต้องหมดวาระไปในเดือนกันยายนของปีนี้

สำหรับในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท  แม้ว่าจะไม่ได้เข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ  เนื่องจากทั้งปีธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท  แต่ก็ต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับที่ดี  เนื่องจากหากปล่อยสินเชื่อได้ในระดับดังกล่าวอีก 3  ไตรมาสที่เหลือก็จะทำให้มียอดการปล่อยสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท  มากกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ 3.7 หมื่นล้านบาท  

 

สร้างระบบคอร์แบงกิ้ง

พงชาญ บอกต่อไปอีกว่า เพื่อพัฒนาการให้บริการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ธนาคารได้มีการลงทุนประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อทำระบบ คอร์แบงกิ้ง (Core Banking) โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาพัฒนาระบบ ในการใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำธุรกรรมแบบเบ็ด เสร็จครบวงจร  ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะกลายเป็นธนาคารลำดับต้นๆที่เริ่มใช้เนื่องจากเราเป็นธนาคารขนาดเล็ก ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบได้โดยไม่ยุ่งยากและใช้เงินทุน ไม่มาก จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพียงไม่กี่ประเภท โดยปัจจุบันเริ่มทำการพัฒนาแล้วตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

“การให้บริการนั้น  ธนาคารจะทยอยเปิดให้บริการระบบคอร์แบงกิ้งไปทีละสเต็ป  โดยอาจจะเริ่มต้นจากเงินฝาก ซึ่งลูกค้าของธนาคารมีไม่มากแค่บริษัทขนาดใหญ่กับหน่วยงานราชการเท่านั้น  เสมือนเป็นการทดลองระบบ  หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาไปสู่สินเชื่อ  โดยผู้กู้รายใหม่ก็จะใช้ระบบใหม่ ส่วนผู้กู้เดิมก็ยังสามารถใช้ระบบเดิมได้อยู่  เพราะคอมพิวเตอร์ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ  เราเรียกว่าระบบอาจาย (AR Jie) หรือระบบที่กระจายกันเสร็จเป็นโมดูล  แล้วค่อยนำทั้งหมดมารวมกัน”

 

จ้างเอาต์ซอร์ซช่วย

พงชาญ บอกอีกว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาร  ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เดิมตั้งแต่ที่ได้มีการก่อตั้งธนาคารโดยปีนี้ธนาคารได้ดำเนิน การว่าจ้างบริษัทติดตามหนี้มืออาชีพ มาทำหน้าที่ติดตามหนี้ในรายลูกค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคาร  และเป็นหนี้เสียมายาวนาน  โดยใช้วิธีแบ่งผลกำไรกัน  ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ รวมถึงทยอยขายทอดตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหยุดดำเนินกิจการ เลิกกิจการ ประวิงเวลาการชำระหนี้ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้  ส่วนมากเป็นรายใหญ่ มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงสี สนามกอล์ฟ เป็นต้น 

“การขายหนี้เสียออกไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อธนาคาร สามารถระดมเงินทุน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ รวมถึงช่วยลดหนี้เสีย ซึ่งภายในปีนี้ คาดว่าจะเหลือไม่เกิน 10% ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคาร มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  เรายังให้โอกาสลูกค้าตลอด  แต่วันนี้ลูกค้าที่ไปไม่ได้เราคงต้องชำระสะสาง ซึ่งคาดว่าจะมีหนี้อยู่ประมาณ 1.8 หมื่นล้าน” 

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

                            SMEDBankไร้รอยต่อเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอี