ลุ้นศาล รธน. ผ่าทางตัน สูตรปาร์ตี้ลิสต์

06 พ.ค. 2562 | 08:40 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3467 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 5-8 พ.ค.2562 โดย...ว.เชิงดอย

 

ลุ้นศาล รธน. ผ่าทางตัน สูตรปาร์ตี้ลิสต์

 

          งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ล่าสุด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจกแจงถึงกรอบเวลาต่าง ๆ ทางการเมืองว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เดิมที่จะประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 150 วัน แต่ทราบข่าวว่าจะประกาศเร็วขึ้น โดยประกาศผลส.ส.ระบบเขตในวันที่ 7 พฤษภาคม และส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นต้องยึดการประกาศผลอย่างเป็นทางการ 95% ในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งวันประกาศผลครบ 95% จะมีผลถึงวันรัฐพิธีเปิดประชุมสภา ที่ต้องทำภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันประกาศผล (ภายใน 23 พ.ค.) และการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อส.ว.ต้องทำภายใน 3 วัน จากวันที่ 8 พฤษภาคม (11 พ.ค.)

          ส่วนไทม์ไลน์การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกฯ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลาตายตัว เนื่องจากสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากรัฐพิธีเปิดสภา คือ การประชุมของแต่ละสภา เพื่อเลือกประธาน และรองประธาน ซึ่ง วิษณุ เครืองาม เคยให้ความคิดเห็นว่าควรมีการประชุมในวันเดียวกัน เพื่อความสะดวก แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ต่อไป และถ้าวิเคราะห์จากกรอบเวลาต่างๆ แล้ว พอมีการโปรดเกล้าฯ ประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ โดยเร็ว จากนั้นนายกฯ ไปพิจารณาพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลและตั้งรัฐมนตรี ซึ่งจะล้ำไปในเดือนมิถุนายน... นี่คือไทม์ไลน์คร่าวๆ ทางการเมือง แต่ดูแล้ว การโหวตเลือกตั้งนายกฯ คงไม่มีปัญหาสำหรับ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะมี 250 ส.ว. ตุนอยู่ในมือ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการ “จัดตั้งรัฐบาล” ที่ทำอย่างไรจะให้มีจำนวน ส.ส.เกินกว่า 251 คน ในปริมาณที่เพียงพอที่จะประคับประคอง “รัฐนาวา” ไปให้ได้นานที่สุด หรือไปได้ตลอดรอดฝั่ง นี่แหละคือปัญหาที่ต้องหาทาง “จัดการ”

          อีกเรื่องที่น่าติดตามคือการตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อันเกิดจากผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ โดยศาลเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่จำเป็นต้องไต่สวนแต่เพื่อประกอบการพิจารณาจึงอาศัยอำนาจ ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และให้เลขาธิการวุฒิสภา จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 7 พฤษภาคม พร้อมทั้งได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. น่าสนใจว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะช่วย “ผ่าทางตัน” ให้กับ กกต.ได้หรือไม่