โกแบร์ระดมทุน2.5พันล.มุ่งสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตการเงิน

16 พ.ค. 2562 | 06:00 น.

โกแบร์ รุก “ซูเปอร์มาร์เก็ตผลิตภัณฑ์การเงิน” หลังรับเงินระดมทุน 2.5 พันล้าน

กแบร์ มุ่งสู่การสร้างแพลตฟอร์ม “ซูเปอร์มาร์เก็ตผลิตภัณฑ์การ เงิน” หลังรับเงินระดมทุน 2,500 ล้านบาท เร่งเสริมพันธมิตร ไล่ซื้อฟินเทค เทคโนโลยี AI-เครดิตสกอริ่ง ต่อยอดธุรกิจ

     นายศีล นวมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โกแบร์ (GoBear) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โกแบร์สามารถ ระดมทุนสำเร็จด้วยมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2,500 ล้านบาท โดย Walvis Participates กองทุนร่วมลงทุนชาวดัตช์ และ Aegon N.V บริษัทด้านการเงินจากยุโรป เนื่องจากนักลงทุนต่างมองว่าเทรนด์ของมาร์เก็ตเพลสนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งทางโกแบร์ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาแพลต ฟอร์ม ฐานข้อมูลต่างๆ ที่จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่เว็บลิสต์ หรือแค่เปรียบเทียบแต่ยังสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าในแต่ละบุคคล แบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงการเพิ่มทีมงานด้านไอทีและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโต

 

โกแบร์ระดมทุน2.5พันล.มุ่งสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตการเงิน

   ทั้งนี้โกแบร์ จะก้าวไปสู่การเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เข้าถึงและใช้งานง่าย เพื่อตอบสนองความต้อง การของผู้ใช้งาน ปัจจุบันโกแบร์มีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ด้านประกันรถยนต์ประกันการเดินทางด้านสินเชื่อ บัตรเครดิต กว่า 1,800 รายการ

  “โกแบร์เติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีการขยายการให้บริการไปในอีก  7 ประเทศได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยปัจจุบันโกแบร์มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน  มีการเติบโต 25% ต่อไตรมาส หรือราว 100% ต่อปี ซึ่งประเทศที่มีการใช้โกแบร์มากที่สุด คือ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว”

“กระแสตอบรับของผู้ใช้งานในไทยนั้นถือว่าดี เพราะประเทศไทยมีเทรนด์ในเรื่องของอี-คอมเมิร์ซที่ค่อนข้างชัดเจน 1-2 ปีที่ผ่านมาคนไทยแทบจะทุกวัย เริ่มใช้อี-คอมเมิร์ซ”

    นายศีลกล่าวต่อไปว่าโกแบร์เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบมาร์เก็ตเพลส ที่มีโมเดลรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากพาร์ตเนอร์ หลังผู้ใช้บริการตัดสินใจเลือกใช้งานผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีโฆษณาเข้ามาร่วมด้วย

     ปัจจุบัน โกแบร์ มีพันธมิตรมากกว่า 100 แห่งทั้งธนาคารและผู้ให้บริการประกัน อาทิ อลิอันซ์ เวิลด์ไวด์ พาร์ทเนอร์, ซิตี้แบงก์, เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์หลักของโกแบร์จะเน้นไปที่การหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้านฟินเทคหรือมีแนวคิดใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -AI) เน้นการบริหารการเงินส่วนบุคคล, การ คิดคะแนนเครดิตสกอร์ หรือ เครดิตสกอริ่ง และการศึกษาด้าน การเงินและแพลตฟอร์มการลงทุน

    สำหรับเป้าหมายหลักหรือกลยุทธ์ของโกแบร์ในปีนี้จะเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจ รวมไปถึงการซื้อบริษัทที่น่าสนใจ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นปีนี้จะเน้นเรื่องแพลตฟอร์มและข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรง ทำให้ลูกค้ามีความสุขและมีคนใช้มากขึ้น รวมถึงได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่มากขึ้น

“เราเหมือนเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งที่เข้ามาดูผลิตภัณฑ์แล้วคิดแบบนี้ บางทีเราใช้ศัพท์ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย แต่ก็ช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เปิดไปอีกก็จะมีรายละเอียดมากขึ้น  เพราะฉะนั้นเรามองว่าที่น่าเชื่อถืออาจจะไม่ใช่ข้อมูลอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่เราไม่ได้มีส่วนได้เสียและเราไม่ได้ขายของ และไม่ได้เป็นพาร์ตเนอร์พิเศษกับใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับลูกค้าที่แตกต่างกับแพลตฟอร์มอื่นๆ” 

บทสัมภาษณ์โดย : ภาพิมล ธนรุ่งเจริญกิจ

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3469 วันที่ 12-15 พฤษภาคม 2562