ค่ายมือถือพร้อมใจกดดัน กสทช. ลดราคาคลื่น700

14 พ.ค. 2562 | 05:31 น.

10 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นประวัติศาสตร์วงการทีวีดิจิทัลของไทย เนื่องจากเป็นวันครบกำหนดขอใช้สิทธิ์ขอคืนใบอนุญาตสำหรับประกอบกิจการโทรทัศน์หรือทีวีดิจิทัล และยืดชำระเงินค่าใบอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม

ปรากฏว่ากิจการโทรทัศน์มีผู้ประกอบการ 7 รายขอคืนใบอนุญาต อันได้แก่ ช่อง MCOT Family หมายเลข 14, ช่อง Spring News หมายเลข 19, ช่อง Spring 26 หมายเลข 26, ช่อง Voice TV หมายเลข 21, ช่อง 3 Family หมายเลข 13 , ช่อง 3 SD หมาย เลข 28 และ ช่อง Bright TV หมายเลข 20

ค่ายมือถือพร้อมใจกดดัน กสทช.  ลดราคาคลื่น700

หันมาฟากโทรคมนาคมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัดหรือ AWN ในเครือ เอไอเอส, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น  จำกัด หรือ TUC ยื่นแสดงความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิ์ยืดชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามมาตรา 44 ที่ออกคำสั่งมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระเงินจากการประมูลคลื่น 900 MHz

แม้จะขอยืดแสดงความจำนงชำระค่าใบอนุญาต แต่ในส่วนการเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ปรากฏว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีจุดยืนในทิศทางเดียวกัน คือ สงวนท่าทีด้วยเงื่อนไขที่ว่าขอดูหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz ก่อนว่า จะรับหรือไม่

 

ราคา-เงื่อนไข ตัวแปรหลัก

เหตุผลหลักๆ ที่บรรดาผู้ประกอบการมือถือสงวนท่าทีราคาคลื่น 700 MHz ว่ากันว่ากังวลในเงื่อนไข แม้ กสทช. มีเกณฑ์เรื่องจำนวนงวดระยะเวลาแล้ว แต่ประเด็นราคาตั้งต้นที่ออกมาเปิดเผย 25,000-27,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต และ เงื่อนไขอื่นๆ ของเรื่องคลื่น 700 MHz ยังไม่ชัดเจน ซึ่ง กสทช. เองจะประกาศหลักเกณฑ์และกำหนดกระบวนการเพื่อประมูลหรือวิธีจัดสรรแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

เชื่อมีหนึ่งรายสนใจ

แม้บรรดาผู้ประกอบการสงวนท่าทีการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz โดยเฉพาะเงื่อนไขราคาเป็นตัวแปรหลัก หากแต่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. มั่นใจว่าจะมีค่ายมือถืออย่างน้อยจำนวน 1 รายสนใจขอรับใบอนุญาต หากไม่เข้าร่วมประมูลดังกล่าวจะถือว่าเงื่อนไขในการยืดชำระเงินประมูลสิ้นสุดลง

ค่ายมือถือพร้อมใจกดดัน กสทช.  ลดราคาคลื่น700

ส่วนผลประกอบการไตร มาส 1/2562 ปรากฏว่า เอไอเอส หรือ มีกำไรสุทธิจำนวน 7.6 พันล้านบาท จำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 41.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่ ดีแทค มีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท และ จำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 20.7 ล้านเลขหมาย

ราวปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เชื่อว่าราคาตั้งต้นจำนวน 25,000-27,000 ล้านบาท ที่ กสทช. กำหนดไว้เบื้องต้น น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะบรรดากลุ่มทุนสื่อสารร้องขอขนาดนี้ มีหรือกสทช.จะไม่เปลี่ยนแปลง 

รายงาน โดย ทีมข่าวไอที

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2562

ค่ายมือถือพร้อมใจกดดัน กสทช.  ลดราคาคลื่น700