แบงก์รัฐอัดงบแสนล้านเสริมแกร่งSMEsสร้างธุรกิจปล่อยกู้สูงสุด30ล้าน

16 พ.ค. 2562 | 07:05 น.

 

สถาบันการเงินของรัฐเผยมาตรการช่วยเอสเอ็มอี ธนาคารออมสินตั้งวงเงินแสนล้านกระจายผ่านศูนย์ 82 แห่งทั่วประเทศ ด้าน ธสน.ลุยช่วยเอสเอ็มอีส่งออกครบวงจร ขณะที่ธพว.อัดฉีด 6 หมื่นล้านมุ่งช่วยเอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้าถึงมากขึ้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2562  ธนาคารได้ดำเนินการจัดเตรียมวงเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ประมาณ 1 แสนล้านบาท  โดยจะกระจายสินเชื่อมายังศูนย์ธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารที่มีการเปิดเพิ่มขึ้นมาเป็น 82 ศูนย์  หรือจะเรียกว่ามีอยู่ทุกจังหวัด  จากเดิมที่มีอยู่ 18 ศูนย์  แต่จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมดของวงเงินหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้

ทั้งนี้ กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นเป้าหมายหลักในการเข้าไปช่วยเหลือ ของธนาคารคือกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีขนาดการขอวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 20-30 ล้านบาท และกลุ่มสตาร์ตอัพ  (Startup) วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท  โดยปัจจุบันทั้ง 82 ศูนย์ดังกล่าวมีความพร้อมที่จะให้บริการเอสเอ็มอีทั้งเรื่องวงเงินและบุคลากรประจำศูนย์  ซึ่งธนาคารคาดว่าจากวงเงินดังกล่าวจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงวงเงินได้ประมาณ 5 พันราย  เฉลี่ยรายละประมาณ 20 ล้านบาท  

“คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 50-60% จากวงเงินทั้งหมด หรือประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท”

 

 

แบงก์รัฐอัดงบแสนล้านเสริมแกร่งSMEsสร้างธุรกิจปล่อยกู้สูงสุด30ล้าน

นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือธสน. (EXIM BANK) กล่าวว่า เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกถือว่ายังมีไม่มาก โดยมีข้อจำกัดของเอสเอ็มอีในการเติบโตเป็นผู้ส่งออก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ขาดเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าวัตถุดิบ รวมถึงค่าขนส่งสินค้า และเงินทุนขยายกิจการ ธนาคารจึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อช่วยเอสเอ็มอีทำการค้าระหว่างประเทศแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นส่งออกไปจนถึงช่วงขยายธุรกิจ เช่น สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม SMEs ไทยสู่ CLMV ให้วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และสินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข วงเงินสูงสุด 7 แสนบาทต่อราย เป็นต้น

2.ขาดความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ธนาคารจึงมีบริการประกันที่ช่วยสร้างความมั่นใจด้วยการป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีจากการไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อต่างประเทศ อาทิ บริการประกันส่งออก SMEs Easy วงเงินรับประกัน 2 ล้านบาท โดยคุ้มครอง 85% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และบริการประกันส่งออกทันใจ SMEs คุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาท เป็นต้น และ3.ขาดคู่ค้าเพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยธนาคารมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC) เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ และบ่มเพาะเอสเอ็มอีให้มีความพร้อมและศักยภาพที่จะขยายธุรกิจสู่เวทีโลก

 

นายพงชาญ  สำเภาเงิน  รองกรรมการผู้จัดการ  ในฐานะรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท  โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท  

สำหรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อนั้น  จะมุ่งเน้นการปล่อยเฉลี่ยต่อรายประมาณ 3-5  ล้านบาท  หรือตํ่ากว่า 1 ล้านบาทได้ก็ยิ่งดี  โดยธนาคารมีความตั้งใจที่จะกระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กให้มากขึ้น  เพราะกลุ่มเอสเอ็มอีดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเข้าไม่ถึงแหล่งทุน  และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งธนาคารมองว่าอยู่ในขนาดที่กำลังดี  เพราะต้องยอมรับว่ามีเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรหรือขยายโรงงานด้วย  

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,470 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แบงก์รัฐอัดงบแสนล้านเสริมแกร่งSMEsสร้างธุรกิจปล่อยกู้สูงสุด30ล้าน