เร่ง4เลนเชื่อมอีสานเหนือ ‘อาคม’เดินหน้าโครงข่ายหลัก‘เส้นทางยุทธศาสตร์’

18 พ.ค. 2562 | 13:00 น.

“อาคม” เกาะติดความคืบหน้าการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคม เร่งเชื่อมโยงระหว่างเมืองกลุ่มอีสานตอนบน 1 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจรทั้้งหมด “เส้นทางโรแมนติก” เลียบตลอดแนวแม่นํ้าโขงใกล้เสร็จ เตรียมศึกษาออกแบบเส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่ “เส้นทางนาคา” ผ่านคำชะโนด ร่นระยะทางจากอุดรฯไปบึงกาฬเหลือ 139 กิโลเมตร

เร่ง4เลนเชื่อมอีสานเหนือ ‘อาคม’เดินหน้าโครงข่ายหลัก‘เส้นทางยุทธศาสตร์’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมหน่วยงานที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามประเด็นการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง ตามข้อเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1

โครงการส่วนใหญ่กรมทางหลวงบรรจุเข้าไว้ในแผนงานแล้ว ที่อยู่ในลำดับความสำคัญสูงให้จัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 ที่เร่งด่วนบางส่วนที่อยู่ในแผนงบปี 2562 แล้ว เช่น โครงการก่อสร้างทางต่างระดับพร้อมอุโมงค์ทางรอด ที่บริเวณสี่แยกทางออกไปจังหวัดหนองคาย ซึ่งการก่อสร้างก้าวหน้าดี คาดจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนตุลาคมนี้ หรือโครงการขยายถนนวงแหวน (ทางเลี่ยงเมือง) ด้านทิศตะวันออก จากสี่แยกบ้านจั่นถึงสี่แยกหนองคาย ก็ถูกบรรจุอยู่ในแผนของกรมทางหลวงแล้ว

เร่ง4เลนเชื่อมอีสานเหนือ ‘อาคม’เดินหน้าโครงข่ายหลัก‘เส้นทางยุทธศาสตร์’

โครงการก่อสร้างถนนเลียบโขงจากจังหวัดเลย-หนองคาย-จังหวัดบึงกาฬ มีแผนการก่อสร้าง ได้ปรับปรุงแล้วเป็นช่วงๆ รวมทั้งช่วงระหว่างบึงกาฬ-นครพนม ระยะทางประมาณ 85 กม. มีการทยอย ก่อสร้างขยายเส้นทางเป็นช่วงๆ เช่นกัน เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับถนนสายเลียบริมโขง จากนครพนม-มุกดาหาร-อำนาจเจริญ ไปถึงอุบลราชธานี

 

เส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่อีกเส้นคือ “เส้นทางนาคา” จากจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กม. ผ่านบ้านคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดบึงกาฬ จากเดิมที่ต้องอ้อมไปหนองคายก่อน ลดระยะทางจากกว่า 200 กิโลเมตร เหลือ 139 กม. ซึ่งกรมทางหลวงจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบในปีงบประมาณ 2563 และบรรจุเข้าแผนงานหลักของกรม ในปีงบประมาณ 2564-2565 ต่อไป ซึ่งถนนเส้นนี้จะเป็นถนนสายหลักในการขนถ่ายสินค้า การท่องเที่ยว จากภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ตรงไปยังจังหวัดบึงกาฬ ผ่านสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 เข้าสู่ สปป.ลาว ไปยังท่าเรือนํ้าลึกหงุงอ๋างในเวียดนามได้ในอนาคต ระหว่างนี้ให้ขยายไหล่ถนนหนองคาย-บึงกาฬรองรับการใช้งานไปก่อน

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางนครพนม-สกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์หลักจากภาคอีสาน เชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอนุภาคลุ่มนํ้าโขง และเป็นทางบุญที่สำคัญที่มีจราจรคับคั่งอีกเส้นทางหนึ่ง ก็กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงขยายเส้นทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเดินทาง

โครงการก่อสร้างถนนโครงข่ายดังกล่าวนั้น เป็นโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนา จึงไม่ต้องห่วงว่าจะชะลอหรือถูกระงับ เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเท่านั้น ของโครงการจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนั้นๆ ให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญก่อน-หลังเท่านั้นเอง “เป้าหมายคือ โครงข่ายถนนสายหลักเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดของอีสานตอนบน 1 ในอนาคต ต้องขยายเป็น 4 ช่องจราจรทั้งหมด” นายอาคม กล่าวยํ้า

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,470 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2562

เร่ง4เลนเชื่อมอีสานเหนือ ‘อาคม’เดินหน้าโครงข่ายหลัก‘เส้นทางยุทธศาสตร์’