ดิจิทัลดิสรัปต์ฉุดทีวีเหลือ5ช่อง

16 พ.ค. 2562 | 08:56 น.

“มีเดีย อินเทลลิเจนซ์” ยํ้าการคืนช่องไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คาดอนาคตลดเหลือแค่ 5 ช่อง ขณะที่ 15 ช่องที่เหลือยังเหนื่อย จาก Digital disruption วอนผู้ประกอบการเลิกนำโมเดลต่างประเทศมาเป็นต้นแบบ ล่าสุดพบสื่อออนไลน์โตก้าวกระโดดโดยเฉพาะในด้านอินฟลูเอนเซอร์

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้แม้จะเหลือช่องทีวีดิจิทัลเพียงแค่ 15 ช่องแต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าจำนวนที่เหลือยังมีปริมาณมากกว่าในตลาด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเหลือเพียงแค่ 10 ช่องเท่านั้น เนื่องมาจากการมีแพลตฟอร์มอื่นๆเพิ่มเข้ามา และ Digital Disruption กำลังมาเปลี่ยนอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลกทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันส่วนตัวเชื่อว่าภายใน 3-5 ปีช่องทีวีจะลดลงเหลือเพียงแค่ 5 ช่องเท่านั้น เพราะในวันนี้การคืนช่องไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับอุตสาหกรรมทีวี จากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นความท้าทายและแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เพราะต่อไปอนาคตสื่อดิจิทัล หรือออนไลน์จะรุกในตลาดหนักมากกว่านี้

ดิจิทัลดิสรัปต์ฉุดทีวีเหลือ5ช่อง

 

“ปัจจัยและความท้าทายต่อไปของทีวีดิจิทัลทั้ง 15 ช่องที่เหลือ ไม่ได้มาจากการปิดตัวลงของ 7 ช่องเป็นหลัก แต่อยู่ที่ความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับการถูก DISRUPT ได้ดีแค่ไหน หัวใจสำคัญคือการพัฒนาคอนเทนต์, กลยุทธ์ และแพลตฟอร์ม การรับชมในยุค Digital disruption ที่ผู้ชมมีความต้องการที่หลากหลายและมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้อยากให้ผู้ประกอบการสื่อทุกท่านเลิกใช้และนำโมเดลสื่อดิจิทัลประเทศอื่นมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย เนื่องจากทุกสื่อทั่วโลกในวันนี้ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ด้วยกันทั้งนั้น”

ภวัต เรืองเดชวรชัย

 

ขณะเดียวกันเมื่อสะท้อนภาพผลกระทบทางลบ พบว่า มี เจ้าหน้าที่ พันธมิตรที่เกี่ยวข้องของทั้ง 7 ช่อง ได้รับความเดือดร้อน จากการปิดสถานี ซึ่งคาดมีมากกว่า 1,500 คน พร้อมทั้งในแง่ของผู้ชมจะมีทางเลือกการรับชมช่องทีวีน้อยลง

สำหรับผลกระทบทางบวก คือการลดความเสียหาย ภาระขาดทุนสะสมที่น่าจะเกิดหากดำเนินธุรกิจต่อไป อีกทั้งในแง่รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่เคยกระจายไปอยู่ 22 ช่องจะไหลมายัง 15 ช่องที่เหลือเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการสิ้นสุดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตและดำเนินกิจการของช่องที่ปิดตัว อาจจะนำมาพัฒนาคอนเทนต์ของช่องที่เหลือ นอกจากนี้ในส่วนของคอนเทนต์ ต่อไปหลังจากนี้จะไม่ซํ้าซ้อนมากไป คุณภาพของคอนเทนต์จะดีขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มทางเลือกควบคู่จะเป็นผลดีต่อผู้ชมและอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในระยะยาว พร้อมทั้งกลุ่มมีเดีย เอเยนซีจะสามารถใช้เงินได้ง่ายขึ้นไม่กระจัด กระจายเกินไปนัก ส่งผลดีต่อนักสื่อสารการตลาด และ media agency

 

 

“จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ปริมาณผู้ชมเฉลี่ยของทั้ง 7 ช่องรวมกันมีจำนวนไม่ถึง 10% ของผู้ชมเฉลี่ยทั้งหมดของทีวีดิจิทัล และเม็ดเงินโฆษณารวมของทั้ง 7 ช่อง ประเมินแล้วเฉลี่ยมีเพียง 120 ล้านบาท/ เดือนเท่านั้น หรือเฉลี่ยแต่ละช่องมีรายได้เข้ามาเพียงกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ในด้านค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ คอนเทนต์ ค่าใบอนุญาต โครงข่าย บุคลากร อื่นๆ กลับมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ที่ผ่านมายังพบว่าตลาดออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะยอดสมาชิกที่ติดตามอินฟูลเอ็นเซอร์ที่เติบโตก้าวกระโดด”

ล่าสุดพบว่า ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ซึ่งยังเดินหน้าดำเนินงาน ไม่ได้ยื่นขอคืนใบอนุญาตฯ ประกาศลดพนักงานฝ่ายข่าวและคอนเทนต์ลง โดยจะหันไปใช้ทีมข่าวและทีมงานของช่องวัน 31 แทน

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562

ดิจิทัลดิสรัปต์ฉุดทีวีเหลือ5ช่อง