“บวรศักดิ์”เตือนส.ส.ใหม่ศึกษาม.144ให้ชัดหวั่นหลุดเก้าอี้ทั้งยวง

15 พ.ค. 2562 | 05:07 น.

“บวรศักดิ์ อุวรรณโณยินดี ส.ส.ใหม่พลังประชารัฐ พร้อมยก 3 เหตุผลหลักบทบาทหน้าที่ ส.ส.ตาม รธน.60 เตือนให้ศึกษา มาตรา 144 ให้ชัดเจน หากทำไม่รอบคอบ ครม.อาจต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

การสัมมนาพรรคพลังประชารัฐ ในวันนี้ (15 พ.ค.) ที่ โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา จังหวัดชลบุรี เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนเวลา 09.00 น. โดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และแกนนำพรรค ทั้ง ส.ส.ทั้ง ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ถ่ายรูปหมู่รวมกัน ก่อนจะเริ่มการสัมมนา ในหัวข้อพิเศษ  บทบาทและหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

นายบวรศักดิ์ กล่าวแสดงความยินดีกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้มาทำหน้าที่ ส.ส. ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญปี2560  พร้อมระบุสาเหตุที่ตัดสินใจมาบรรยายพิเศษ เนื่องจากได้รับการทาบทามจากนายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รองหัวหน้าพรรค รวมถึงคนคุ้นเคยอีกหลายคนในพรรคที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หัวข้อ บทบาทหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ ส.ส.ทุกคนทราบดี ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร หน้าที่อันดับแรก คือการทำหน้าผู้แทนของประชาชน เพราะทุกคนเป็นตัวแทนของเสียงที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ที่มาระบอบประชาธิปไตย  โดยกล่าวอ้างคำนักวิชาการระดับโลก อมาตยา เซ็น ที่ศึกษาที่ว่า ความอดอยากเกิดขึ้นได้ทุกระบอบการบริหารการปกครอง แต่การอดตายจะเกิดขึ้นในระบอบเผด็จการ

นายบวรศักดิ์ ย้ำว่า ในระบอบประชาธิปไตย อดอยากได้แต่จะไม่อดตาย  เพราะผู้ที่มีหน้าที่ในบ้านเมือง ต้องทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อน  หน้าที่อันดับสอง คือการออกกฎหมาย หน้าที่ที่3 ของส.ส. คือการอนุมัติการงบประมาณในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังมากที่สุด ขอให้ทุกคนได้ไปศึกษารัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ให้ชัดเจน เพราะหากทำไม่รอบคอบ คณะรัฐมนตรีอาจต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ  รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรานี้จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต ต้องคืนเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลังด้วย

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 บัญญัติว่า  ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม  และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจํานวนในรายการมิได้  แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

 (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้

 (2) ดอกเบี้ยเงินกู้

 (3) เงินที่กําหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

 ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร  วุฒิสภา  หรือคณะกรรมาธิการ  การเสนอ  การแปรญัตติ  หรือการกระทําด้วยประการใด  ๆ  ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย  จะกระทํามิได้

  ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา  มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา  เห็นว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง   ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา  และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว  ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติตามวรรคสอง  ให้การเสนอ  การแปรญัตติ  หรือการกระทําดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล  ถ้าผู้กระทําการ ดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา  ให้ผู้กระทําการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย  และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น  แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง  ให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย  และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ  และ ให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดําเนินการ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือ แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ  ให้พ้นจากความรับผิด 

  การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่  ให้กระทําได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรร งบประมาณนั้น

 ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่   ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน   หากเห็นว่ากรณีมีมูล  ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการต่อไปตามวรรคสาม  และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญ หรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้