“อุดรธานีพัฒนาเมือง” เร่งต่อยอด “อุดรซิตี้บัส” ผนึกบีทีเอสผุดรถไฟฟ้า 2 เส้นทางลงทุนนำร่อง 1.2 หมื่นล้านรับเปิดพื้นที่ไมซ์-เศรษฐกิจเมืองสีเขียว เผยช่วงเปิดเดินรถซิตี้บัสทะลัก 800 คนต่อวัน
จากกรณีบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดให้บริการเดินรถโดยสาร “อุดรซิตี้บัส” รูปแบบสมาร์ทบัสด้วยรถปรับอากาศใน 2 เส้นทางจำนวน 10 คันเบื้องต้นพบว่ามีประชาชนใช้บริการจำนวนมากไม่น้อยกว่า 800 คนต่อวัน ล่าสุดได้ศึกษาเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเข้ามาทดแทนทั้ง 2 เส้นทางรองรับผู้ใช้บริการที่หนาแน่น จากการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีที่จะใช้รูปแบบไมซ์และเศรษฐกิจสีเขียวมากระตุ้นหลังจากนี้
จากการให้สัมภาษณ์ ของ พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานบริหาร บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด ระบุว่าได้หารือร่วมกับกลุ่มบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในพื้นที่กรุงเทพฯเพื่อชวนร่วมลงทุนกับ “อุดรพัฒนาเมือง” และเทศบาลเมืองอุดรธานีตลอดจนภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 8 กิโลเมตร และ 15 กิโลเมตร จากเส้นทางซิตี้บัสในปัจจุบันซึ่งผ่านพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง อาทิ ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์ราชการ ตลาดชุมชน
“เมืองแห่งแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมยังเป็นมนต์เสน่ห์ของอุดรธานี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางสามเหลี่ยมมรดกโลกคือ ฮาลองของเวียดนาม หลวงพระบางของสปป.ลาว และบ้านเชียงที่อุดรธานีของไทย อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกันให้ต่อยอดธุรกิจต่อกันหากมีรถไฟฟ้าจะเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น”
ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่อุดรธานีได้เห็นความก้าวหน้าใน 2 เรื่อง คือ มีรถโดยสารอุดรซิตี้บัสให้บริการ 2 เส้นทาง และศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ที่จุคนได้มากถึง 1.2 หมื่นคน อีกทั้งความคืบหน้าของการเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่กำหนดเปิดบริการปี 2568 มีสถานีอุดรธานีที่เกิดศักยภาพสูงได้ในอนาคต
“โดยเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมจากสนามบินไปยังสถานีรถไฟอุดรธานีมีความคุ้มค่าน่าลงทุน ระยะทาง 15 กิโลเมตร จะเริ่ม เก็บข้อมูลการเดินทางจากปัจจุบันเป็นต้นไปก่อนก้าวไปสู่การศึกษาออกแบบ โดยต้องการให้บริการ 15 นาทีต่อขบวน สำหรับจุดเดโปหรือศูนย์ซ่อมบำรุง บริษัท ติดต่อขอเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในจุดยูดีทาวน์ ย่านเศรษฐกิจสำคัญ ส่วนแนวเส้นทางไม่ต้องเวนคืน ใช้เขตผิวทางของถนนเป็นหลัก เบื้องต้นจะใช้แบบรถรางไฟฟ้า โดยแนวทางการเพิ่มผู้โดยสารจะเห็นชัดเจนจากการพัฒนาศูนย์กลางของไมซ์และเศรษฐกิจต่างๆอาทิ ศูนย์ของกลุ่มลุ่มนํ้าโขงฝั่งตะวันออก”
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562