เรียนรู้จากมาเลเซีย: ใช้ blockchain สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

20 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในประเทศที่แข็งแกร่ง จากพัฒนาการที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 2526 เริ่มจากการผลิตรถยนต์ โปรตอน (Proton) แบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียในยุคแรก และ เปอโรดัว (Perodua) ซึ่งเป็นรถยนต์แห่งชาติลำดับที่ 2 จนถึงขณะนี้ มาเลเซียมีนโยบายรถยนต์แห่งชาติครั้งใหม่ (Third National Car Policy) ด้วยแนวคิดของ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันที่สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทรถยนต์แห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับที่ 3 รวมถึงฟื้นโครงการโปรตอนกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยลงทุนมูลค่าถึง 1,200 ล้านริงกิต (ประมาณ 9,100 ล้านบาท) ขยายโรงงานเพื่อรองรับกระบวนการผลิตรถยนต์รุ่นแรกของโครงการอย่าง Proton SUV X70 รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์ R&D ของรถ Proton รุ่นใหม่ ทั้งหมดเพื่อปูทางให้โปรตอนกลับมายิ่งใหญ่ในตลาดของรถยนต์พวงมาลัยขวา

 

มาเลเซียในฐานะประเทศที่ผลิตรถยนต์เพื่อการแข่งขันในตลาดภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการมีองค์ความรู้และการพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ร่วมทุนไม่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อย่างต่อเนื่อง ความพยายามของมาเลเซียที่ต้องการองค์ความรู้ดังกล่าวทำให้รัฐบาลผลักดันเรื่อง R&D จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในมาเลเซีย รวมถึงแนวทางที่รัฐบาลมีการสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ตาม แผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ หรือ Third Industrial Master Plan (IMP3) ทั้งนี้สถาบันยานยนต์มาเลเซีย (Malaysia Automotive Robotics and IoT Institute - MARii) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรถยนต์แห่งชาติของภาครัฐมาโดยตลอด เป็นอีกจุดที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรศึกษาอย่างยิ่ง

เรียนรู้จากมาเลเซีย: ใช้ blockchain สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

สถาบัน MARii มีหน้าที่หลักในการเสนอแนะนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลเซียให้แก่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศมาเลเซีย (MITI) จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยานยนต์ โดยสถาบันจะจัดฝึกอบรมความรู้ขั้นพื้นฐานให้แก่แรงงานมาเลเซียและเยาวชนที่ไม่มีงานทำ เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจัดอบรม 6,000-7,000 ครั้ง/ปี นอกจากนี้ยังจัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรบริษัทยานยนต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสอนในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันฝึกอบรมของภาคเอกชนที่ศูนย์ MARii Resources Center อาทิ ระบบ Hybrid ในรถยนต์ รวมถึงมีศูนย์ MARii Design Center ที่เมืองเสลังงอร์ ซึ่งเปิดให้บริษัท OEM หรือบริษัทยานยนต์ใช้วิจัยและทดลองสร้างรถยนต์ต้นแบบ และมีศูนย์ให้บริการตรวจวัดมลพิษจากยานพาหนะตามมาตรฐาน EU ซึ่งในปีนี้สถาบันมีแผนจะเปิดศูนย์ความเป็นเลิศที่มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA (UiTM) มหาวิทยาลัย University Putra Malaysia เกาะลังกาวีและเมืองโกตาคินาบาลู

โปรตอน

อุตสาหกรรมยานยนต์ของมาเลเซียได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 MARii ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Crypto Valley Malaysia Association (CVM) เพื่อนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 โดย MARii มีการลงทุนเริ่มแรก 2 ล้านริงกิต และทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อริเริ่มร่วมกันใน 4 เรื่อง คือ

เรียนรู้จากมาเลเซีย: ใช้ blockchain สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

(1) พัฒนาระบบ digital identities สำหรับอะไหล่ยานยนต์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาและคุณภาพ คาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562

(2) พัฒนาระบบเรียกใช้บริการรถยนต์โดยสารร่วม (e-hailing) เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค คาดว่าจะแล้วเสร็จภาย ในเดือนมีนาคม 2562

(3) พัฒนาระบบประเมินความพึงพอใจและมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถและศูนย์บริการรถยนต์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ก่อนเลือกใช้บริการ คาดว่าจะพร้อมใช้งานภายในกลางปี 2562

(4) พัฒนาระบบเก็บรวบ รวมข้อมูลของยานยนต์พาณิชย์เพื่อคำนวณ Carbon footprint โดยคาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จและนำมาใช้ได้ในปี 2563

นอกจากนี้ MARii และ CVM จะร่วมมือในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน Cryptography เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี blockchain เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

เปอโรดัว

บทบาทหน้าที่ของ MARii เป็นการรวมศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ที่หน่วยงานอิสระ โดยนอกจากการเสนอแนะแนวนโยบายต่อรัฐบาลบนพื้นฐานการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมแล้ว MARii ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและสร้างแรงงานฝีมือเพื่อป้อนอุตสาหกรรม มีสิทธิบัตรทั้งจากโครงการวิจัยที่ดำเนินการเองและที่ร่วมดำเนินการกับผู้เชี่ยวชาญและบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งด้วย

ปัจจุบันสถาบัน MARii มีประเด็นที่เตรียมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับไทยใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

(1) การพัฒนามาตรการลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ขนาดน้อยกว่า 150 ซีซี) โดยใช้เทคโนโลยีพัฒนาจักรยานยนต์ที่เหมาะกับการใช้งานในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น พัฒนาระบบจำกัดความเร็วรถ และระบบหยุดรถอัตโนมัติหากเท้าผู้ขับขี่ไม่อยู่บนคันเหยียบ

 

(2) ผลักดันให้มีมาตรฐานรถยนต์อาเซียนหรือ driving Cycle ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและสภาพท้องถนนของประเทศสมาชิกอาเซียน (ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนใช้มาตรฐานของ EU)

 

สำหรับไทย ความร่วมมือกับสถาบัน MARii นับเป็นอีกช่องทางในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในการใช้ R&D เพื่อพัฒนาการผลิตสำหรับรถยนต์แห่งชาติ จึงถือเป็นสิ่งที่ไทยควรพิจารณาหาวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงจับตามองในฐานะที่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยเพื่อสร้างขีดความสามารถให้ไทยได้ในอนาคต 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3471 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2562

เรียนรู้จากมาเลเซีย: ใช้ blockchain สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์