หัวเว่ยฯสู้ยิบตา เผยมี Plan B ซุ่มพัฒนา OS ของตัวเองพร้อมใช้ฉุกเฉิน

20 พ.ค. 2562 | 07:43 น.

นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ชื่อของหัวเว่ยถูกขึ้นบัญชี Entity List ห้ามทำธุรกิจซื้อขายกับบริษัทของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ได้ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อต่างประเทศเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 พ.ค.) ว่า บริษัทเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้วสำหรับเรื่องนี้ โดยบริษัทจะมุ่งพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญๆด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ปัจจุบัน หัวเว่ยฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก มีการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆจากภายนอกองค์กรประมาณ 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี

เหริน เจิ้งเฟย

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากหัวเว่ยฯยังเปิดเผยต่อซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2562 ยืนยันว่า บริษัทกำลังสร้างระบบปฏิบัติการ (OS)สำหรับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของตัวเอง เพื่อเป็นทางออกต่อกรณีที่บริษัทอาจถูกสกัดกั้นไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทอเมริกันอย่างกูเกิ้ล หรือไมโครซอฟท์ ดังที่เป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ ที่ว่ากูเกิ้ล ผู้สร้างระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพาของหัวเว่ยฯ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จำเป็นต้องระงับการให้บริการทางเทคนิค ตลอดจนการสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แก่บริษัทหัวเว่ยฯ ยกเว้นบางอย่างที่สามารถให้บริการได้ผ่านระบบเปิด มีผลตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังรัฐบาลสหรัฐฯประกาศชื่อหัวเว่ยฯ เป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามบริษัทอเมริกันค้าขายด้วย ซึ่งตามคำสั่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง 
 

หัวเว่ยฯสู้ยิบตา เผยมี Plan B ซุ่มพัฒนา OS ของตัวเองพร้อมใช้ฉุกเฉิน

ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯระบุว่า หัวเว่ยฯเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน และมีโอกาสที่อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยฯจะถูกใช้เพื่อการสอดแนมข้อมูลรัฐบาลสหรัฐฯไปให้แก่รัฐบาลจีน กรณีดังกล่าวทำให้สหรัฐฯคัดค้านการนำอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยฯมาใช้ในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารในระบบ 5G ของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นในระดับหน่วยงานภาครัฐหรือธุรกิจเอกชน ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังโน้มน้าวให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯทั้งในยุโรปและเอเชีย ต่อต้านหรือคว่ำบาตรการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของหัวเว่ยฯ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่ด้วย

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า หัวเว่ยฯ กำลังเดินหน้าพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆและซอฟต์แวร์ของตัวเองเพื่อเป็นผู้กำหนดโชคชะตาธุรกิจของตัวเอง ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดอุปสรรคสกัดกั้นไม่ให้เข้าถึงฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์สำคัญๆที่ต้องใช้ แต่ผลิตเองไม่ได้ บริษัทก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลานี้ท่ามกลางบริบทที่ถูกสหรัฐฯอเมริกาและประเทศพันธมิตรกดดันทุกวิถีทางในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี 5G  

 

ปัจจุบัน นอกจากหัวเว่ยฯจะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิ้ลในสินค้าของบริษัทกลุ่มสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพาแล้ว บริษัทยังใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ของไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันเช่นเดียวกับกูเกิ้ล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์แล็ปท้อปและแท็บเล็ต

หัวเว่ยฯสู้ยิบตา เผยมี Plan B ซุ่มพัฒนา OS ของตัวเองพร้อมใช้ฉุกเฉิน

นายริชาร์ด ยู ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ของหัวเว่ยฯ ให้สัมภาษณ์ Die Welt (ดี เวลท์) สื่อใหญ่ของเยอรมันว่า บริษัทมีระบบปฏิบัติการสำรองไว้ใช้แล้วสำหรับกรณีฉุกเฉินหากถูกปิดกั้นจากซอฟต์แวร์ของบริษัทสหรัฐฯอย่างสิ้นเชิง “นั่นคือแผนสอง (Plan B) ของเรา แต่แน่นอนว่า ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากทำงานกับระบบนิเวศของกูเกิ้ลและไมโครซอฟต์มากกว่า” ผู้บริหารของหัวเว่ยฯ กล่าว นอกจากนี้ ยังยอมรับว่ากำลังพัฒนาชิปสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟนของบริษัทเองในอนาคต

 

นักวิเคราะห์มองว่า สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยฯ ตอนนี้ยอดขายราว 50% มาจากตลาดจีนเอง ซึ่งรัฐบาลจีนห้ามใช้บริการของกูเกิ้ล หรือ Google services อยู่แล้ว ซึ่งรวมทั้งการเข้าถึง google Play Store ก็ถูกปิดกั้นอยู่แล้วด้วย ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯจึงอาจไม่กระทบตลาดจีน แต่จะมีผลกระทบหนักในตลาดต่างประเทศที่นิยมใช้ระบบแอนดรอยด์  ในปีที่ผ่านมา (2561) หัวเว่ยฯสามารถแซงหน้าบริษัทแอปเปิ้ล ผู้ผลิตโทรศัพท์ไอโฟน ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่เป็นอันดับ2 ของโลกรองจากบริษัท ซัมซุง ได้สำเร็จ  ผู้บริหารของหัวเว่ยฯ คาดหมายว่า ภายในปี 2020 หรือเพียงปีเดียวข้างหน้า บริษัทจะสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ1 ได้ในที่สุด