เตรียมความพร้อมไทย ก้าวสู่สังคมสับตะไคร้ (Subscription)

02 มิ.ย. 2562 | 09:55 น.

บทความ โดย ภัทรานิษฐ์ เอี่ยมศิริ นักวิเคราะห์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ในสังคมที่ทุกอย่างเร่งรีบ จะดีแค่ไหนหากเราสามารถมีทุกอย่างที่เราต้องการได้โดยไม่จําเป็นต้องออกไปซื้อ หรือแม้กระทั่งการกดซื้อของเดิมๆ และจ่ายเงินบนช่องทาง E-commerce ทุกครั้งเป็นประจํา อาจไม่จําเป็นอีกต่อไป ถ้าเรา Subscribe กับบริษัทที่คอยส่งสินค้าต่างๆ ให้เราถึงหน้าบ้านได้อย่างสมํ่าเสมอ

 

ระบบ Subscription นี้เป็นโมเดลธุรกิจให้บริการส่งสินค้าถึงหน้าบ้านเพียงจ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัท อาจเป็นได้ทั้งแบบส่งสินค้าที่ผู้บริโภคระบุตามความต้องการล่วงหน้า หรือคัดสรรสินค้าต่างๆ แทนผู้บริโภค

 

จากการสํารวจโดย สถาบัน McKinsey & Company ระบุว่า อัตราการเติบโตของมูลค่าตลาด Subscription ผ่านทางระบบ E-commerce ในสหรัฐฯ เติบโตถึง 115% ต่อปี ในช่วง ปี 2011-2016 (จาก 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2011 เป็น 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2016) สะท้อนถึงศักยภาพการขยายตัวของระบบ Subscription ที่แต่ละธุรกิจมีจุดเด่นแตกต่างกันในการนําโมเดลนี้มาใช้ อาทิ บริษัท Nature delivered ผู้ก่อตั้ง “Graze” ที่ปรับใช้รูปแบบนี้ส่งผลให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยสะสมที่ 19% ต่อปี จาก 21 ล้านปอนด์ในปี 2012 เป็น 50 ล้านปอนด์ในปี 2017 ก่อนจะถูกซื้อกิจการโดย Unilever ในช่วงต้นปี 2019

 

ขณะที่ Dollar Shave Club เริ่มใช้รูปแบบนี้ในสหรัฐฯ ชูจุดเด่นเป็นสินค้าหาไม่ได้ตามท้องตลาดหากไม่สมัครสมาชิกผ่านรูปแบบ Subscription ซึ่งราคาสินค้าของสมาชิกถูกกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าในกลุ่มประเภทเดียวกัน และธุรกิจ “Rent the Runway” ที่ให้สมาชิกเช่าเสื้อผ้าได้ไม่จํากัดจํานวนในเวลาที่กําหนด มีให้เลือกหลากหลายทั้งแบรนด์ไซซ์สไตล์ หากชอบก็สามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด

 

ในการเริ่มต้นระบบ Subscription กลยุทธ์สําคัญคือ การตั้งราคาที่เหมาะสม ยืดหยุ่น และมีราคาหลายระดับ เพื่อให้สมาชิกเลือกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และควรนําข้อมูลของสมาชิกมาวิเคราะห์เพื่อความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ

เตรียมความพร้อมไทย ก้าวสู่สังคมสับตะไคร้ (Subscription)

การบริหารจัดการสินค้าคงคลังเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้โดยจัดส่งสินค้าคงคลังนั้นๆ ส่งเป็น Surprise box หรือปะปนไปกับสินค้ายอดนิยม เพื่อให้สมาชิกได้ลองสินค้าใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าเพียงชนิดเดียวจําเป็นต้องมีจุดแข็งที่ชัดเจน เช่น ไม่มีในท้องตลาด ให้บริการดีเยี่ยมหรือมีราคาถูก เป็นต้น

หรือสร้างความน่าสนใจโดยแตกไลน์ผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ หรือใช้การตลาดเชิงรุกโดย Emotional marketing เพื่อสร้างประสบการณ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ มอบสิทธิพิเศษแก่สมาชิกเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้าใหม่

 

อีไอซีมองว่า Subscription ในไทยจะเติบโตได้ดีต้องมีการใช้ E-commerce ที่แพร่หลาย มีระบบขนส่งที่มีคุณภาพและเทรนด์ความสนใจเลือกซื้อสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคหันมาซื้อของผ่าน Online เป็นจํานวนมาก จากการเติบโตของ E-commerce ของไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2018 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ปี 2014-2018 อยู่ที่ 12%

เตรียมความพร้อมไทย ก้าวสู่สังคมสับตะไคร้ (Subscription)

การให้บริการขนส่งสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่สนใจเลือกซื้อสินค้าเฉพาะกลุ่ม เป็นปัจจัยก่อให้เกิดรูปแบบสมาชิกลักษณะนี้ นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ต้องตระหนักเสมอว่า โมเดลนี้มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ตํ่าทําให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ได้ง่ายและเสี่ยงถูกลอกเลียนแบบสินค้าและบริการได้ จึงต้องวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนและพร้อมปรับตัวรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น 

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23 - 25 พฤษภาคม 2562

เตรียมความพร้อมไทย ก้าวสู่สังคมสับตะไคร้ (Subscription)