พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิ FTA ไตรมาสแรกพุ่ง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์

21 พ.ค. 2562 | 07:27 น.

พาณิชย์เผยมูลค่าใช้สิทธิ FTA และ GSP ไตรมาสแรกปี 62 พุ่งกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลุ้นทั้งปีโตตามเป้า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.38% อาเซียนใช้สิทธิสูงสุด เผยล่าสุดได้เชื่อม e-Form D กับบรูไนสำเร็จ คาดช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น ส่วนการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ มั่นใจปีนี้ยอดใช้สิทธิทั้งปีโตตามเป้า 8 หมื่นล้านดอลล์เพิ่ม 9%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยถึง การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 18,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.89 % เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2.38% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ (กำลังมีความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงอีกหนึ่งฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562) โดยมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 78%  ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.08%  โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 6,228 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จีน มูลค่า 4,319 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มูลค่า 2,051 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ออสเตรเลีย มูลค่า 2,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ อินเดีย มูลค่า 1,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิ FTA ไตรมาสแรกพุ่ง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้กรมได้เริ่มให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D อย่างเต็มรูปแบบกับบรูไนเป็นประเทศที่ 5 เพิ่มเติมจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยระบบ e-Form D จะช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการทำธุรกรรมทางการค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ส่งออกสินค้าไปบรูไน

ส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยกเลิกการให้สิทธิ GSP ตั้งแต่เมษายน 2562 เป็นต้นไป) ซึ่งมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 1,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิ 64%  ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 22%  โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด 92%  ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ไปสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,195 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 75% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา18% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด  5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิ FTA ไตรมาสแรกพุ่ง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์

 

 

ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งในระบบ FTA และ GSP จะมีมูลค่าประมาณ 81,025 ล้านดอลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า เพราะการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 18,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 22.26%  ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แต่ก็ต้องจับตาว่าอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้แนวโน้มการส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านภาวะการค้าโลกและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความผันผวน และจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากในช่วงกลางปี สหรัฐฯ และจีนสามารถหาข้อยุติได้ในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าน่าจะส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกและเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น