ส่งสัญญาณ‘วิชาชีพสื่อ’น่าห่วง

02 พ.ค. 2562 | 13:03 น.

“สุภิญญา” เตือนกสทช.ทบทวนเงินเยียวยา แนะควรใช้เงินให้ถูกทาง ยํ้าอย่าอุ้มผู้มีอำนาจรายเดิม หวั่นในอนาคตองค์กรวิชาชีพน่าเป็นห่วง วอนหันส่งเสริมบุคลากรสื่อเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมให้เติบโตทัดเทียมสากล

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อ และอดีตกรรมการกสทช. เปิดเผยว่า อดีตยังไม่เห็นว่าดิจิทัลจะเข้ามามีอิทธิพลมากเท่าในขณะนี้ เนื่องจากประเทศไทยมี 3G ช้าและเมื่อมีเกิดขึ้นจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ disrupt รวดเร็ว ประกอบกับความผิดพลาดของ กสทช. คือเรื่องการออกแบบโครงข่ายสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เห็นใจผู้ประกอบการ แต่เรื่องที่ควรตระหนักคือการทบทวนเงินชดเชยเพื่ออุ้มหน่วยงานรัฐรายเดิม อาทิ อสมท ททบ.5 ที่แบกรับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แบบไม่เสียอะไรเลยตลอดเส้นทางนี้ ซึ่งผู้ที่ได้ไม่เสียอะไรเลยคือหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย คือหน่วยงานรัฐรายเดิมซึ่งมีรายได้ต่อปีกว่า 1 พันล้านบาทต่อโครงข่ายต่อช่อง อีกทั้งกสทช.ไม่เคยออก TOR ชัดเจนว่าผู้ประกอบการควรผลิตคอนเทนต์เพื่อสาธารณะอย่างไรบ้าง และบุคลากรในแต่ละช่องจะได้รับค่าชดเชยอย่างไรบ้าง เรื่องนี้กสทช.ควรทบทวน

ส่งสัญญาณ‘วิชาชีพสื่อ’น่าห่วง

สุภิญญา กลางณรงค์

“ที่ผ่านมาเคยขอกสทช.ออกมาตรการให้สามารถมาคืนช่องได้มานานแล้วหลายปี แต่ไม่สำเร็จเพราะในเวลานั้นกังวลว่าถ้าผู้ประกอบการเลิกกิจการจะส่งผลให้โครงข่ายขาดรายได้ แต่หลังจากออกม.44 ครั้งนี้ให้สามารถคืนได้พร้อมเยียวยาค่าโครงข่ายนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อหลายฝ่าย ที่ผ่านมาเคยคิดว่าช่องทีวีดิจิทัลเป็นผู้มีอำนาจ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กลับเป็นโครงข่าย ซึ่งมีจำนวน 4 ราย สุดท้ายคนมีอำนาจยังเป็นหน่วยงานรัฐรายเดิม รวมทั้งยังมีรายได้จากค่าเช่าโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหากสังเกตผู้มีอำนาจรายเดิมยังอยู่เพียงแค่เปลี่ยนจากค่าเช่าสัมปทานเป็นค่าเช่าโครงข่าย”

 

ขณะเดียวกันปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในเรื่องของจำนวนช่องที่มีจำนวนมาก 24 ช่อง แต่หากจะกล่าวแค่กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ถูกต้องเพราะในเวลานั้นเอกชนเป็นผู้ที่เข้ามาต่อรองขอประมูลช่องจำนวนมากเนื่องจากมีความต้องการ บางรายขอประมูลสูงสุด 4 ช่อง แต่กสทช.ต่อรองขอเหลือ 3 ช่องดังนั้นหากกล่าวโทษเรื่องนี้ควรต้องโทษทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ในเรื่องการแข่งขันจากนี้ กังวลอุตสาหกรรมสื่อจะขาดอิสระหรือขาดจุดยืน ส่วนตัวไม่อยากให้การที่ภาครัฐช่วยเหลือครั้งนี้กลายเป็นบุญคุณ จนสื่อถูกผูกขาดด้านประสิทธิภาพ และอิสระเสรีภาพ ขณะเดียวกันในแง่ธุรกิจสื่อที่รัฐอุ้มในตอนนี้ ควรต้องกลับมาคิดว่าจะพัฒนาคอนเทนต์เพื่อประโยชน์สาธารณะและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพในสายนี้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาหลายปีอุตสาหกรรมนี้ไม่เติบโตเพราะขาดการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้

 

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมวิชาชีพสื่อขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอย่างมาก ในขณะที่ประเทศอื่นเขาสนับสนุนบุคลากรการทำงานด้านนี้อย่างมาก ทั้งในรูป แบบของการศึกษาดูงาน หรืองานอบรมต่างๆ และเมื่อบุคลากรเหล่านี้ขาดการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ก็จะไม่เติบโต ส่วนตัวคาดหวังให้กสทช.หรือเจ้าของนายทุนส่งเสริมวิชาชีพ คอนเทนต์ หรือจัดกิจกรรมเพื่ออุตสาหกรรมผลักดันสื่อให้เติบโต ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาคอนเทนต์เช่นเดียวกับประเทศอื่น อุตสาหกรรมสื่อประเทศไทยก็จะไม่พัฒนา ดังนั้นเงินที่มีควรพัฒนาให้ถูกที่ถูกทาง”

ทางออกของเรื่องนี้คือการปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล กสทช. กระทรวงวัฒนธรรม แล้วนำงบมาสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศร่วมทุนผลิตรายการกับประเทศอื่นเพื่อนำไปขายยังประเทศต่างๆ เพราะหากไม่ปรับและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจังสุดท้ายภาควิชาวารสาร ศาสตร์จะหายไปในเร็ววัน 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2562