ถอดรหัส พ.ร.บ.ท่องเที่ยวแห่งชาติพ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แล้ว

23 พ.ค. 2562 | 11:51 น.

          ราชกิจจาฯ ออกประกาศ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แล้ว  อดีตรมต.วีระศักดิ์ ถอดรหัส 6 ข้อดีการใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือให้ทุกระดับมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมในการขับเคลื่อนท่องเที่ยว ทั้งยังกำหนดให้รัฐบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำประกัน

       ถอดรหัส พ.ร.บ.ท่องเที่ยวแห่งชาติพ.ศ.2562  มีผลบังคับใช้แล้ว

              นายวีระศักดิ์  โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า จากการที่พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง2562 ที่เพิ่งประกาศใช้  (มีผลเมื่อ 20 พค. 2562) มีสิ่งที่ควรเรียนรู้ใน 6 เรื่องหลัก ได้แก่
           1.มีการถอดคำว่ากฏกระทรวงออกไปจากกฏหมายนี้ และใช้คำว่าประกาศกระทรวงแทน ดังนั้นการจะประกาศเพิ่ม ลด เปลี่ยนแปลงเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ที่มักเรียกกันว่าคลัสเตอร์ท่องเที่ยวนั้น ทำได้คล่องตัวขึ้น เพราะไม่ต้องรอคิวไปเข้าครม.แล้ว
         สาเหตุที่ทำเช่นนี้ได้ก็เป็นเพราะคณะกรรมการตามพ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาตินี้ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการกันเกือบครบทุกกระทรวงและหน่วยหลักๆไปแล้ว การใช้คำว่าประกาศกระทรวงแทน กฏกระทรวง ก็จะลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนธุรการลงไปได้บ้าง เป็นการเพิ่มความคล่องตัว ให้วงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น
            2. มีการกำหนดให้รัฐสามารถบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยต้องชำระค่าประกันภัยประกันชีวิตให้ตนเอง  เพื่อรัฐเอาเงินนี้ไปซื้อกรมธรรม์คุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบครอบคลุมทุกคน โดยไม่ต้องรบกวนเงินภาษีจากประชาชนไทย (ในแต่ละปี รัฐต้องแบกรับค่ารถฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล ค่าจัดการศพนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเรียกเก็บจากใครก็ไม่มีใครจ่ายราว300ล้านบาท/ปี)

 

           3. เมื่อสามารถตั้งหรือปรับปรุงคลัสเตอร์ท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้ไทยสามารถมีการประกาศกลุ่มจังหวัดพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุมเสียที เช่นประกาศให้มี 18 กลุ่มจังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ สำนักนายกฯ และก.มหาดไทยก็ใช้อยู่ มีกม.ผังเมืองและกม.งบประมาณรองรับกลุ่มจังหวัดเหล่านี้อยู่เรียบร้อยแล้ว
          การทำแผนพัฒนาเขตการท่องเที่ยวอย่างมีบูรณาการและมุ่งความยั่งยืนก็จะได้เป็นไปได้ ไม่ใช่ต่างกระทรวงก็ต่างแผนงานกันไปโดยต่างอ้างว่าตัวมีกม.ของตัวอย่างเคยๆเป็นมา ผลคือจะได้ไม่มีจังหวัดใดหลุดจากแผนที่ท่องเที่ยวเลย 
         ที่ผ่านมา แม่ฮ่องสอน พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และอีกมากมายหลายจังหวัด ไม่อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอะไรกับเขาเลย บางจังหวัดอาจมีที่เที่ยวน้อยกว่าที่อื่นแต่เขาก็ยังสามารถเป็นเเหล่งผลิตผักผลไม้ ไข่ หรือน้ำดิบไปสนับสนุนเมืองท่องเที่ยว เขาจึงสมควรมีส่วนร่วมในเขตพัฒนาด้านการท่องเที่ยวด้วย
         4. เมื่อมีเขตพัฒนาการท่องเที่ยวแล้ว กม.นี้ให้มีคณะกรรมการ ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นๆขึ้น โดยหนนี้กม.ระบุเติมไปชัดเจนว่าต้องแบ่งสัดส่วนให้ภาคชุมชนเข้ามาในคณะกรรมการด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเป็นโควต้าให้หน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชนเท่านั้น จนแทบไม่มีที่นั่งให้ภาคชุมชนหรือภาควิชาการของท้องที่เหล่านั้นเลย
       5. คลัสเตอร์ใหม่เชิงยุทธศาสตร์เองก็จะเกิดและปรับปรุงได้ตามจำเป็น เช่นคลัสเตอร์พัฒนาเขตการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการมาถึงใหม่ของ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ หรือการเชื่อมกลุ่มจังหวัดที่มีสนามบินแล้วการเชื่อมกลุ่มจังหวัดที่ใช้ทะเลเดียวกัน หรือมีการเชื่อมกันทางน้ำ (แม้อาณาเขตจังหวัดจะไม่ติดกัน) หรือประกาศพื้นที่ๆมีความเป็นพิเศษที่ควรแก่การจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบไม่เหมารวมๆ เช่น บางกะเจ้า หรือ เมืองเก่าอยุธยา หรือ บางเกาะหรือหมู่เกาะ เพราะการพัฒนาและการแก้ปัญหาจะต้องเชื่อมโยงกัน
          6. พรบ.ใหม่นี้ รื้อคำนิยามคำว่าการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมคำสำคัญเข้ามา เช่น การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรมต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  ความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว การมุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นต้น
           ดังนั้นคณะกรรมการทั้งระดับชาติและระดับพัฒนาเขตพื้นที่ จึงต้องทำหน้าที่ของตนให้ตรงกับเป้าประสงค์ในคำนิยามตามกฏหมายนี้ด้วย เป็นการกำกับเป้าหมายอีกวิธี  มิให้เกิดอาการผลประโยชน์เศรษฐกิจหรือธุรกิจบังตาแบบเดิมๆท่าเดียว
          “ผมในฐานะที่ยอมถอดหมวกรัฐมนตรีออกทุกบ่ายวันจันทร์เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกม.นี้ด้วยตนเองขอขอบคุณคณะกรรมาธิการของสนช.และสมาชิกสนช.ที่ได้อภิปรายสาระข้างต้นเหล่านี้มาร่วมกันแทบทุกสัปดาหเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มพอดี จนเห็นพ้องให้ร่างกม.พรบ.นี้ผ่านสภาฯ จนกระทั่งสามารถถวายขึ้นทูลเกล้าฯและได้ถูกประกาศใช้ เป็นกฏหมายซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากให้ทุกฝ่ายทุกระดับสามารถมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมในการขับเคลื่อน "ท่องเที่ยวไทย" ให้รับใช้ทั้งเป้าหมายเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืนขึ้น” นายวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านรายละเอียดราชกิจจานุเบกษาได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/067/T_0160.PDF