รัฐบาลใหม่ต้องมีมาตรการทำทันที

23 พ.ค. 2562 | 12:48 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3472 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23 -25 พ.ค.2562

 

รัฐบาลใหม่

ต้องมีมาตรการทำทันที

 

รัฐบาลใหม่ต้องมีมาตรการทำทันที

 

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ออกมาแถลงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีดีพีไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 2.8% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 3.6% อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวลง 3.6% เป็นหลักใหญ่ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.6% การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหดตัว 0.1% ประกอบกับช่วงของการเลือกตั้งทางภาคเอกชนชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอให้เกิดความชัดเจนหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ พร้อมกันนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีทั้งปีใหม่ 3.3-3.8% โดยมีค่ากลางที่ 3.6% ซึ่งเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ใกล้เคียงกับ 4%

          สศช.ยังได้เสนอประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 โดยยังต้องเฝ้าระวังโดยให้ความสำคัญกับภาคการส่งออกให้ขยายตัวได้ 3% การดูแลการขยายตัวของการท่องเที่ยวให้ได้ 40 ล้านคน การรักษาการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญๆ ที่กำลังมีการขับเคลื่อนการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง การผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ให้เริ่มเบิกจ่าย ให้ได้ตามปฏิทินงบประมาณ ซึ่งส่วนนี้ประเด็นหลักอยู่ที่การเมืองนิ่งและมีการตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว จึงจะสามารถผ่านงบประมาณได้ตามกรอบเวลา และสศช.ยังชี้ให้จับตาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วย

          แถลงของสศช.เป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด แต่อย่างน้อยก็บอกได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในอาการหนักพอสมควร ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันประคับประคอง เพราะหากว่าตัวเลขโตตํ่าหมายความว่าสะท้อนไปที่ระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจไม่หมุนเวียนและเงินที่ใช้ในภาคครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากการกู้หนี้ยืมสิน

          ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งสัญญาณในการเข้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเดือนมิถุนายนนี้ธปท.จะกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เป็นมาตรฐานกลางให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการดำเนินมาตรการนี้เกิดขึ้นหลังจากตรวจสอบพบหนี้หรือสินเชื่อรถยนต์ มีความเปราะบางของสินเชื่อ เช่น สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) กรณีที่ไปกำหนดสูงๆ จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีปัญหา เพราะหักการชำระหนี้เหลือสุทธิค่าใช้จ่ายในการครองชีพอาจไม่เพียงพอ ธปท.จึงต้องการให้แน่ใจว่าการปล่อยสินเชื่อ จะเป็นไปเพื่อความยั่งยืน การเข้าดำเนินการเรื่องนี้สะท้อนความเข้มงวดต่อหนี้ภาคครัวเรือนที่ธปท.เข้าไปดูแล หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปคุมเข้มในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลไปก่อนแล้ว

          รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเข้ามา ต้องเตรียมมาตรการในลักษณะเดินเข้ามาแล้วพร้อมทำทันที โดยไม่ต้องรอให้ข้าราชการหรือหน่วยงานเสนอแผน แต่ต้องมีแผนเร่งด่วนในการจัดการเศรษฐกิจของตัวเอง ดับไฟทันทีก่อนวิกฤติ พร้อมประสานนโยบายการเงิน การคลังให้เดินไปด้วยกัน ไม่ให้ฉุดดึงรั้งซึ่งกันและกันจนเศรษฐกิจเดินเข้าสู่จุดวิกฤติ ซึ่งฐานรากไม่อาจรองรับได้อีกแล้ว