เพิ่มเพดานก่อหนี้ ทะลุ2.4แสนล้าน

26 พ.ค. 2562 | 10:30 น.

คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังขยายเพดานการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% มติดังกล่าวทำให้เพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลเพิ่มจาก 1.5 แสนล้านเป็น 2.4 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท

 

“การขยายเพดานก่อหนี้ผูกพันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการขยายวงเงินเพื่อรองรับการลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาวันที่ 28 พฤษภาคมนี้” แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ

 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ขยายเพดานการก่อหนี้ผูกพันระหว่างปีเพิ่มจาก 5% เป็น 8% เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจำนวนมาก ซึ่งหลายโครงการเป็นลักษณะการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ที่ไม่สามารถใช้การกู้เงินที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบวงเงินกู้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้ตามการลงทุนปกติ แต่ภายใน 3 ปีจะต้องขยับวงเงินกลับมาที่เดิมคือ 5% ของงบประมาณรายจ่าย
ประจำปี

 

“เพดานการก่อหนี้ผูกพัน ไม่ได้มีเพดานกำหนดไว้ แต่ให้คณะกรรมการพิจารณาอัตราที่เหมาะสม ซึ่งช่วงคณะกรรมการเห็นว่า 5% หรือ 1.5 แสนล้านบาทเป็นอัตราที่เหมาะสมในขณะนั้น และเราคาดว่าจะอยู่ภายใต้กรอบเงินกู้ของสบน. แต่เมื่อมาดูยุทธศาสตร์การลงทุนของรัฐบาลแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพีพีพี ซึ่งสบน.บอกว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์การกู้เงิน เราจึงต้องขยายเพดานกู้ให้ครอบคลุมการลงทุนเหล่านี้ด้วย และไม่ใช่การขยายเพดาน เพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้กับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศด้วย แต่กลับทำให้วงเงินกู้ของรัฐบาลใหม่น้อยลงด้วย เพราะเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้”นายลวรณกล่าว

 

ด้านนายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า โครงการพีพีพีเหมือนการกู้เงินเพื่อให้เอกชนนำเงินไปลงทุนก่อน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบการกู้เงินของสบน. ขณะเดียวกันแม้โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 6 หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปีแต่ในวิธีการงบประมาณให้คิดการก่อหนี้ปีเดียว จึงทำให้เต็มเพดานการก่อหนี้ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังเห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเงินที่จะจ่าย จึงให้เพิ่มเพดานการก่อหนี้ให้สอดคล้องกันและเห็นว่า หากจ่ายได้เร็วจะทำให้ประหยัดเงินงบประมาณในส่วนของดอกเบี้ยได้ เพราะในร่างทีโออาร์ไม่ได้ห้ามไว้ และไม่ได้แก้ไขทีโออาร์อะไรเลย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,473 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เพิ่มเพดานก่อหนี้  ทะลุ2.4แสนล้าน