จีนรอดบัญชีดำ "ประเทศบิดเบือนค่าเงิน" แต่ยังติดแห"ถูกจับตา"

30 พ.ค. 2562 | 07:47 น.

ในรายงานที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำเสนอต่อรัฐสภา หรือ สภาคองเกรส เมื่อเร็วๆนี้ (28 พ.ค.) ไม่มีประเทศใดที่อยู่ในเกณฑ์ต้องถูกขึ้นบัญชี “ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน” หรือ Currency Manipulator เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ แต่มีอยู่ 9 ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯและถูกจัดเข้าอยู่ในบัญชี “ประเทศที่ต้องถูกสหรัฐฯเฝ้าจับตามอง” หรือ Watch List ซึ่งได้แก่ จีน เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

 

ก่อนหน้านี้ มีการคาดเดาว่า จีน ซึ่งกำลังเปิดศึกการค้าอยู่กับสหรัฐฯ อาจจะโดนสหรัฐฯตราหน้าว่าเป็น “ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน”ในรายงานฉบับนี้ และหากเป็นเช่นนั้นก็อาจส่งผลให้การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดอีกหลายเท่า ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ ตัดสินใจว่ายังไม่เรียกจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (เพื่อหวังผลได้เปรียบทางการค้า) จึงเป็นการลดอุณหภูมิความร้อนแรงของการเผชิญหน้าได้ในระดับหนึ่ง

  จีนรอดบัญชีดำ "ประเทศบิดเบือนค่าเงิน" แต่ยังติดแห"ถูกจับตา"

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯปี 1988 กระทรวงการคลังจะต้องส่งรายงานสถานการณ์การควบคุมค่าเงินของประเทศต่างๆ ต่อสภาคองเกรสทุกๆรอบ 6 เดือน ซึ่งหากมีการพบว่าประเทศคู่ค้ารายใดมีพฤจติกรรมเข้าข่ายควบคุมค่าเงินในลักษณะบิดเบือนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าเหนือสหรัฐฯ ก็อาจถูกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า ต่อมาในปี 2016 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายขยายเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังใช้ในการประเมินพฤติกรรมของประเทศคู่ค้า

 

ในปี 1994 (พ.ศ. 2537) รัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตันเคยจัดให้จีนเข้าข่ายประเทศที่บิดเบือนค่าเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีประเทศใดถูกสหรัฐฯจัดเข้าบัญชีดังกล่าวอีก แม้กระทั่งเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขู่มาตลอดว่าจะจับจีนกลับเข้ามาอยู่ในบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงินอีกครั้ง ก็ยังไม่เคยทำอย่างที่ขู่แม้สักครั้งเดียว
 

ในรายงานฉบับล่าสุดก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นฉบับเดือนตุลาคม 2561 ยังมีประเทศอินเดียและสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในบัญชี Watch List (ประเทศที่ต้องเฝ้าจับตาหรือเฝ้าระวัง) แต่ในรายงานฉบับล่าสุด (พฤษภาคม 2562)กระทรวงการคลังได้ตัดสินใจถอด 2 ประเทศดังกล่าวออกจากบัญชีเฝ้าระวังแล้ว

สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯกำลังทำงานอย่างเอาจริงเอาจังในการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการค้าจะขยายตัวในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานของสหรัฐฯ ดังนั้น กระทรวงฯจึงเข้มงวดกับทุกๆพฤติกรรมการควบคุมค่าเงินที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรม

 

ในการจัดทำรายงานครั้งล่าสุดนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เพิ่มจำนวนประเทศที่ถูกนำมาพิจารณาจากเดิม 12 ประเทศเป็น 21 ประเทศ ซึ่งหลังจากมีการปรับกฎเกณฑ์การพิจารณาด้านต่างๆ อาทิ มูลค่าความได้เปรียบทางการค้าที่ประเทศนั้นๆมีต่อสหรัฐฯ มูลค่าการได้ดุลการค้าที่ประเทศนั้นๆมีในภาพรวม และจำนวนครั้งที่รัฐบาลประเทศนั้นๆเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ก็ทำให้ประเทศที่เข้าข่ายถูกพิจารณามีจำนวนมากขึ้น

 

รายงานฉบับเดือนตุลาคม 2561 มีประเทศในบัญชี Watch List เพียง 6 ประเทศ คือ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่พอมาถึงรายงานฉบับล่าสุด (พ.ค.นี้) สองประเทศแรกสถานะดีขึ้น ถูกถอดออกจากบัญชี แต่ก็มีเพิ่มใหม่เข้ามาอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์ อิตาลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมกันเป็น 9 ประเทศ   

 

อนึ่ง ประเทศที่จะเข้าข่ายบัญชี “ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน” นั้น ต้องมีหลายเงื่อนไของค์ประกอบ เช่น ต้องเป็นประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ต้องมีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ต้องมีสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ของจีดีพี และต้องเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี