อย่าให้กองทุนสื่อฯ เป็นแหล่งหากินของใคร

07 มิ.ย. 2562 | 07:30 น.

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในแวดวงสื่อสารมวลชนกับ“ประกาศยกเลิกการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2561” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ลงนามโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เป็นการยกเลิกการอนุมัติโครงการเอรียา จุฑานุกาลวงเงิน 16.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดชุดใหญ่ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา อนุมัติไม่ถึงเดือนแล้วต้องยกเลิก แสดงว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า

โครงการนี้เป็นโครงการสร้างภาพยนตร์เส้นทางชีวิตของโปรเม-เอรียา จุฑานุกาลที่เสนอขอทุนโดยบริษัทสร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่งไม่ใช่โปรเมเป็นผู้ยื่นขอด้วย ตัวเอง และเรียนว่าส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับโปรเม หนำซํ้าเป็นคนหนึ่งที่เป็น FC ชื่นชมในความสามารถ ให้กำลังใจทุกแมตช์ที่ไปแข่งขัน เป็นผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่ดีมาก

อ่านเหตุผลในการประกาศยกเลิกโครงการเนื้อหาของประกาศระบุว่าเนื่องจากได้ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่เพิ่มเติมพร้อมพยานหลักฐานและเอกสารซึ่งทําให้การพิจารณาอนุมัติโครงการเอรียา จุฑานุกาลไม่เป็นไปตามที่กําหนดไว้ ในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการ หรือกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2561”

อย่าให้กองทุนสื่อฯ  เป็นแหล่งหากินของใคร

                              วสันต์ ภัยหลีกลี้

 

ที่สนใจนอกจากตัวประกาศแล้ว ผมสนใจการแสดงความคิดเห็นในแฟนเพจเฟซบุ๊กของกองทุนพัฒนาสื่อฯ มีผู้มาแสดงความคิดเห็น อาทิ ผู้ใช้ชื่อว่าธาร ตะวันระบุว่านี่คือบทเรียนสำคัญของกองทุนและคณะกรรมการ เนื่องจากการพิจารณาโครงการต่างๆ นอกจากจะต้องใช้ประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ครอบคลุมทั้งศาสตร์และศิลป์แล้ว ความมี จิตใจเป็นกลาง บริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็สำคัญต้องมาควบคู่กัน

เพราะฉะนั้นในการพิจารณาโครงการรอบถัดไปจึงขอให้กองทุนและกรรมการพิจารณาอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการเปิดเผยข้อมูลโครงการทุกโครงการที่ได้รับทุนรวมทั้งชื่อผู้ขอทุนด้วย และถ้าเป็นไปได้ควรแจ้งเหตุผลของโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาเพื่อผู้เสนอจะได้นำไปปรับปรุงด้วยอย่างที่ สสส. ทำอยู่

เพราะหลังจากนี้ทางภาคประชาสังคม จะตรวจสอบการพิจารณาโครงการต่างๆ อย่างเข้มข้นขึ้นแน่นอน รวมทั้งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้าไปมีบทบาทในสภา ก็จะเป็นหนึ่งในการร่วมตรวจสอบปัญหาของหน่วยงานนี้ รวมทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติความรู้ความสามารถของกรรมการทุกคน เพราะเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นแล้วว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นจากกรรมการล้วนๆ และถ้าไม่ได้ภาคประชาสังคมทักท้วง เงิน 16 ล้านบาทที่เสียไป ใครจะรับผิดชอบ กรรมการควรแสดงสปิริตในความผิดพลาดนี้ ลาออกเถอะ อยู่ไปก็ขาดความน่าเชื่อถือแล้ว

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความที่เห็นที่ผมอ่านแล้วก็สะดุ้ง ทำให้เห็นภาพของการตรวจสอบจากภายนอกที่เข้มแข็งของภาคประชาชน แต่อ่านแล้วท่านผู้บริหารกองทุนพัฒนาสื่อฯ หรือคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้อง ไม่ควรถือโทษโกรธเคืองกับการแนะนำที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้ เป็นการติเพื่อก่อ เพราะเขาอาจจะเห็นและรับรู้รับทราบปัญหาอะไรบางอย่างหรือไม่ ผมไม่ทราบได้

และควรขอบคุณคำเตือนที่มีเข้ามา ให้เป็นพลังฮึดในการนำไปปรับปรุงการบริหารและการพิจารณาทุนต่างๆ ให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น หากมั่นใจว่าโปร่งใสแล้ว ทำอย่างไรจะทำให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพราะคงไม่มีใครต้องการเห็นกองทุนตกเป็นแหล่งทำมาหากินที่ผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางกองทุน ที่ต้องเคลียร์กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้วุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3476 วันที่ 6-8 มิถุนายน 2562

อย่าให้กองทุนสื่อฯ  เป็นแหล่งหากินของใคร