องค์กรรัฐขานรับก.ล.ต.ส่งSMEsเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

06 มิ.ย. 2562 | 04:50 น.

 

 

องค์กรภาครัฐตอบรับนโยบาย ก.ล.ต. สนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าระดมทุนในตลท.ด้านออมสินคาดมีการปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับธุรกิจ ขณะที่ สสว. เชื่อเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาส  เผยที่มาส่งเข้า MAI ได้แล้ว 3 บริษัท

นายชาติชาย พยุห-นาวีชัย  ผู้อำนวยการ  ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำเกณฑ์หุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนได้  โดยจะมีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

ทั้งนี้  ธนาคารออมสินก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีนโยบายในการสนับสนุน SMEs และอยู่ในข่ายที่ ก.ล.ต. ต้องการหารือด้วยนั้น มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งในที่นี้น่าจะรวมไปถึงกลุ่มของสตาร์ตอัพ (Start up) ด้วย  โดยในปัจจุบันกฎเกณฑ์ของการเข้าระดมใน ตลท. แม้ว่าจะเป็นตลาด MAI  แต่ก็ต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่  และจะต้องมีผลกำไรตามเกณฑ์ที่กำหนด  ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอุปสรรคสำหรับเอสเอ็มอี  และสตาร์ตอัพ  เพราะฉะนั้นจึงคาดว่าน่าจะต้องมีการปรับ  หรือกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ

องค์กรรัฐขานรับก.ล.ต.ส่งSMEsเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“สตาร์ตอัพส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมา หรือยังไม่มีผลตอบแทนในรูปของผลกำไรมากนัก เพราะฉะนั้นเรื่องผลประกอบการจึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าระดมใน ตลท. ดังนั้น  จึงน่าจะมีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้สามารถเข้ามาระดมทุนได้” 

สำหรับในส่วนของธนาคารเองนั้น เชื่อว่าจะเป็นการขอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการเข้าไปช่วยเหลือว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรถึงจะเหมาะสม  และมีประสิทธิภาพมากที่สุด  เนื่องจากธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนเอสเอ็มอี  และสตาร์ตอัพอยู่แล้ว 

นายสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้รับหนังสือติดต่อจาก ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าวแล้วโดย สสว. มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมา สสว.เองได้มีการจัดกลุ่มเอสเอ็มอีออกเป็นระดับเพื่อความชัดเจนในการเข้าไปสนับสนุนได้อย่างตรงจุด 

โดยมีกลุ่มที่จะส่งเสริมให้เข้าตลท.ด้วย ซึ่งจะเป็นเอสเอมอีที่ได้รับรางวัล SMEแห่งชาติ  เนื่องจากมีความพร้อมทั้งทางด้านรายได้ ระบบการบริหารจัดการ  และการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีที่มาจากโครงการ SME แห่งชาติ  สามารถเข้าระดมทุนในตลาด MAI ได้แล้ว 3 ราย โดยล่าสุดมี

เอสเอ็มอีที่กำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้าระดมทุนอีก 8 บริษัทในปีนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านอื่นด้วยว่าจะสามารถเข้าระดมทุนได้ในปีนี้เลยหรือไม่  

“ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีประมาณ 30 บริษัทที่สสว. ส่งรายชื่อให้ตลท. ว่ามีศักยภาพที่จะเข้าระดมทุนได้  โดยการดำเนินการที่ผ่านมาก็มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับ MAI ในการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าตลาด  โดยพบว่ามีถึง 20 บริษัทที่มีศักยภาพเพียงพอ”

นายสุวรรณชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการของ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการเปิดประตูให้โอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการเติบโตให้เข้าถึงแหล่งทุน โดยที่สสว.ก็พร้อมที่จะเป็นกำลังสนับสนุน  อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าไม่ใช่เอสเอ็มอีทุกบริษัทจะต้องการเข้าตลท.เพื่อระดมทุนถึงแม้ว่าจะมีศักยภาพเพียงพอ  เนื่องจากพึงพอใจอยู่แล้วกับธุรกิจที่ทำอยู่ ดังนั้นสสว. จึงดำเนินการเพื่อหาตลาดใหม่ๆไว้ให้ เพื่อเป็นทางเลือกให้อีกช่องทางหนึ่ง 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,476 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562