แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

09 มิ.ย. 2562 | 09:10 น.

สัปปายะสภาสถาน ชื่อที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นชิน แต่ถ้าบอกว่า “รัฐสภาใหม่” คงถึงบางอ้อกันทันที  อาคารรัฐสภาใหม่หรือสัปปายะสภาสถานนี้ เป็นการรวมคำระหว่าง “สัปปายะ” และ “สภาสถาน” โดย “สัปปายะ” หรือ “สัปปายะ 7” ซึ่งแปลว่า สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะสมกัน เมื่อรวมกับ “สภาสถาน” จึงมีความหมายถึง “สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย”

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

ย้อนเรื่องราวรัฐสภา

  อาคารรัฐสภาไทยเปลี่ยนสถานที่มาแล้วกว่า 2 ครั้ง แห่งแรกคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยาม ปี 2475-2517  จึงย้ายไปที่อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 บริเวณข้างสวนสัตว์ดุสิต (สวนสัตว์เขาดิน) ที่ปิดการใช้งานไปแล้ว  จนปี  2535 จึงเริ่มมีแนวคิดก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่มาเริ่มก่อเป็นรูปร่างได้ในปี 2551 ช่วงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และพิจารณาเลือกพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้ใช้ที่ดินราชพัสดุริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนทหาร (เกียกกาย) 

สัปปายะสภาสถาน เป็นโครงการสร้างรัฐสภาขนาดใหญ่ บนพื้นที่ดินราว 123 ไร่ พื้นที่ใช้สอยในอาคาร 424,000 ตารางเมตร มีที่จอดรถทั้งสิ้น 2,069 คันมีพื้นที่สีเขียวรวม 115,529 ตารางเมตร ใช้งบประมาณทั้งหมดราว 22,987 ล้านบาท ขยับเพิ่มจากเดิมที่ตั้งไว้ 12,000 ล้านบาท มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์พระสุเมรุ 134.56 เมตร 

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

การก่อสร้างนั้นเมื่อวันที่  12 สิงหาคม  2553 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ ลงเสาเข็มในวันที่ 8 มิถุนายน 2556 และเมื่อก่อสร้างเสร็จรัฐสภาแห่งนี้เสมือนก่อกำเนิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 คณะรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 จะได้ใช้งานเป็นคณะแรก ทั้งยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ครั้งแรก มีส.ส.รุ่นใหม่ พรรคใหม่ๆเข้าสู่สภาครั้งแรกอีกเช่นกัน

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

ยลงานศิลป์

ด้วยงบประมาณที่มหาศาลเยี่ยงนี้แน่นอนล่ะว่าต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ  แม้การก่อสร้างจริงยังไม่แล้วเสร็จดี บางส่วนเสร็จเกือบ 100% โดยเฉพาะส่วนของห้องประชุมพระสุริยัน ของส.ส.และห้องประชุมพระจันทราของส.ว.ที่จะต้องแล้วเสร็จก่อนนั้นเพราะมีกำหนดว่าวันที่ 22 มิถุนายน 2562 วันเปิดประชุมสภาก็น่าจะใช้งานได้ แต่ได้หรือไม่ต้องลุ้นกันไป   

สิ่งที่จะขอนำชมก็คือ ความงามตระการตาของสถานที่แห่งนี้ขอหยิบมายลในบางส่วนก่อน ว่ากันถึงแนวคิดการออกแบบสถานที่ซึ่งมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญ  เป็นหน้าตาของประเทศ ควรต้องแสดงถึงความรุ่งเรืองด้านสถาปัตยกรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ที่เชิดหน้าชูตาของความเป็นไทย  ผสมผสานกับความหมายเชิงสัญลักษณ์  แสดงถึงดุลยภาพและความก้าวหน้าของระบบรัฐสภาไทย ผ่านงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ตอบสนองตามลักษณะการใช้สอยงานในยุคปัจจุบัน แรงบันดาลใจในการออกแบบจึงเป็นไปตามหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบไตรภูมิยึดตามความเชื่อคติพุทธ จึงแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยและอาคารประกอบ เป็น 4 ส่วน คือ

ส่วนที่  1  ที่ทำการสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ประกอบด้วยที่ทำการส.ส. และส่วนที่ทำการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ 2 ที่ทำการวุฒิสภา(ส.ว.) มีที่ทำการส.ว. และส่วนที่ทำการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่วนที่  3  พื้นที่รัฐสภาส่วนกลาง (ส.ส.และส.ว.) ที่จะต้องมีห้องประชุมส.ส.ขนาด 800 ที่นั่ง และส.ว. ขนาด 300 ที่นั่ง, ห้องประชุมคณะกรรมาธิการส.ส.และส.ว.110 ห้อง, ห้องทำงานส.ส.และส.ว.ห้องประชุมสัมมนาขนาด 250 ที่นั่ง  6 ห้อง ห้องจัดเลี้ยงวีไอพีขนาด 1,500 คน 1 ห้อง, ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุ เป็นต้น และส่วนที่  4  งานพื้นที่สิ่งก่อสร้างภายนอกอาคาร แต่ละห้องมีการตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร สวยงามตระการตา  มีห้องประกอบรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุม มีงานเครื่องยอดอาคารทรงเจดีย์มีพระสยามเทวาธิราชประดิษฐาน

ดังนั้นงานศิลปะในช่วงนี้ ก็ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือที่ห้องประชุม เมื่อมีจุดมุ่งหมายต้องการรวมเป็น
หนึ่งเดียวกัน รูปแบบและพื้นที่ของห้องประชุม จึงเป็นทรงครึ่งวงกลม ใช้สัญลักษณ์ “ขวัญ ปราณ จิต” มาเป็นองค์ประกอบ งานตกแต่งภายในห้องประชุมจึงใช้สีทองและสีเงิน เป็นธีมแสดงถึงความพิสุทธิ์และการใช้สติปัญญาเพื่อประกอบกรรมดี 

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

ห้องประชุมพระสุริยัน 

สำหรับส.ส. เมื่อพระสุริยัน เป็นต้นกำเนิดของชีวิตและสรรพสิ่งในโลกและส่องแสงให้พลังแก่มวลมนุษย์ตลอดมา จึงนำสัญลักษณ์มาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญแสดงความหมายถึง ความสวัสดี และสติปัญญา ลักษณะของการสร้างสรรค์ผนังและเพดานเป็นที่ว่างรูปทรงกลม เสมือนกับการประชุมอยู่ภายใต้ท้องฟ้ากว้างใหญ่ ไร้ขอบเขต  เสริมสร้างจินตนาการและความผ่อนคลายในการประชุมของส.ส.ที่ต้องใช้พลัง สติปัญญา อย่างหนักและยาวนาน

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน

ห้องประชุมพระจันทรา 

สำหรับ ส.ว.พระจันทรา เป็นพลังที่ทำให้ชีวิตและสรรพสิ่งในโลกได้ทอแสงให้มวลมนุษย์ดำเนินชีวิตไปในยามค่ำคืนตลอดมา  นำสัญลักษณ์มาใช้เพื่อแสดงถึงพลังที่เยือกเย็น เสมือนทำงานเพื่อสร้างดุลยภาพ 

แต่ที่ WOW มากๆ คือ การนำไม้สักเข้ามาตกแต่ง ต้องใช้ไม้สักร่วม 5,000 ท่อน มาตกแต่งเป็นเสาค้ำล้อมรอบอาคารโดยกำหนดสเปกไม้ยาว 5 เมตรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว สเปกไม้เหลากลม จำนวน 1,000 ท่อน ราคาซื้อขายประมาณ 25,000 บาทต่อลบ.ม. คุณภาพไม้ที่ใช้ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ ตรง ไม่คดงอ ไม่มีกระพี้ ไม่มีตาที่ทำให้เสียความแข็งแรงหรือความสวยงาม มีขนาดตามที่กำหนด อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ไม้เสาไม้สักทั้งหมดต้องเป็นไม้จากป่าปลูก และไม้พื้น ผนัง ฝ้า เพดานเป็นไม้จริง เช่นกันกับงานสถาปัตยกรรมอีกส่วนนำไปเป็นเสาประดับ ใช้ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. สูง 4.60 ม. ลองนึกดูใช้ไม้มหาศาลนอกจากทำเสาแล้ว  ยังนำไม้บางส่วนไปสลักเสลานำมาตกแต่งบนหลังคาและส่วนอื่นอีก  นานครั้งที่เราจะหาโอกาสชมงานไม้สักอย่างอลังการแบบนี้  ถ้าเปิดให้ประชาชนเข้าชมก็ควรต้องหาจังหวะไปชมกันให้ได้เพราะคงหางานวิจิตรฝีมือคนไทยได้ยากขึ้นทุกวัน..

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,477 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แย้มประตูดูงานศิลป์ สัปปายะสภาสถาน  อลังการงบบาน 2.3 หมื่นล้าน